สถาบันเหล็กฯ เริ่มตรวจสอบเหล็กตึกถล่ม สตง. ลุ้นรอผล 3 ชม. มีทั้งเหล็กข้ออ้อย สลิง รวม 7 ประเภท 28 ชิ้น
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันนี้เวลา 13.30 น. สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ได้เริ่มนำเหล็กทั้ง 7 ประเภท จำนวน 28 ชิ้น เข้าตรวจสอบค่าทางเคมีและทางกลแล้ว โดยจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 18.00 น. ของวันนี้
นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวว่า สำหรับตัวอย่างเหล็กที่ส่งเข้ามาตรวจเข้ามายังสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย มีจำนวนทั้งหมด 7 ประเภท จำนวน 28 เส้น ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวอย่างเหล็ก
เหล็กข้ออ้อย SD40T ขนาด 12 มม. จำนวน 3 เส้น ยี่ห้อ SKY
เหล็กข้ออ้อย SD40T ขนาด 16 มม. จำนวน 3 เส้น ยี่ห้อ SKY
เหล็กข้ออ้อย SD40T ขนาด 20 มม. จำนวน 6 เส้น ยี่ห้อ SKY
เหล็กข้ออ้อย SD50T ขนาด 25 มม. จำนวน 2 เส้น ยี่ห้อ SKY
เหล็กข้ออ้อย SD50T ขนาด 32 มม. จำนวน 7 เส้น ยี่ห้อ SKY 2 เส้น TATA 4 เส้น TYS 1 เส้น
เหล็กเส้นกลม SR24 ขนาด 9 มม. จำนวน 2 เส้น ยี่ห้อ SKY
ลวดสลิง ขนาด 15.2 มม. จำนวน 5 เส้น
ทั้งนี้ตามกระบวนการทดสอบทางค่าเคมี และค่าทางกล จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 18.00 น. ของวันนี้ 31 มีนาคม ผลจะทยอยออกมาต่อเนื่อง ซึ่งการทดสอบดังกล่าว เพื่อตรวจสอบว่าเหล็กที่นำมาใช้ในการก่อสร้างอาคาร สตง. ที่ถล่มลงมา จากผลกระทบแผ่นดินไหว มีคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือไม่
หลังจากได้ผลการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว จะแจ้งทางสื่อมวลชนให้ทราบ พร้อมส่งรายงานผลไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป หากพบว่าเป็นเหล็กด้อยคุณภาพ กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการเข้าไปตรวจสอบเชิงลึกถึงต้นทางของบริษัทผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า จากนั้นจะดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด แต่ถ้าได้คุณภาพตามมาตรฐาน มอก. จะแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต่อไป เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ตึก สตง.ถล่มต่อไป
ทั้งนี้ จากการสังเกตพบว่าเหล็กเส้นบางเส้น ที่นำมาทดสอบ บางเส้นตรง, บางเส้นโก่งงอ และบางเส้นมีลักษณะคล้ายสนิมขึ้น
สำหรับกระบวนการตรวจสอบ เริ่มนำเหล็กเส้น คือ เหล็กข้ออ้อย 16 มิลลิเมตร ไปตัดชิ้นส่วนที่ห้องตัดเหล็กสำหรับไซต์ 16 มิลลิเมตรขึ้นไป พอตัดเสร็จ นำชิ้นส่วนเหล็กดังกล่าวเข้าทดสอบในห้องแล็บ เพื่อตรวจส่วนประกอบทางเคมีของเหล็กว่ามีส่วนประกอบของธาตุใดบ้าง และมีค่าทางเคมีปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งผลจะแสดงบนหน้าจอทันทีไม่ว่าจะเป็นค่า คาร์บอนฯ, โบรอน และซิลิคอน ซึ่งทั้ง 3 ค่านี้เป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อตัดตัวอย่างเสร็จ เจ้าหน้าที่ได้นำชิ้นส่วนเหล็กเข้าเครื่องโดยใช้รังสียิงเข้าไปและสะท้อนออกมาเพื่อดูองค์ประกอบทางเคมีและธาตุซึ่งใช้เวลา 3-5 นาที
โดยเบื้องต้น ผลทางเคมีของเหล็กขนาด 16 มิลลิเมตร ปรากฏว่าพบ โบรอน 0.00047%, คาร์บอน 0.2255 % และซิลิคอน 0.065%
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่จะนำเหล็กเส้นมาวัดขนาดความยาว และชั่งน้ำหนัก ก่อนจะนำมาคำนวณค่ามวลต่อเมตรว่า เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือไม่
จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทยอยนำเหล็กทุกขนาดไปตรวจสอบ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มิลลิเมตร, ขนาด 25 มิลลิเมตร และขนาด 32 ตามลำดับ ซึ่งเหล็กที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ในครั้งนี้คือลวดสลิงเนื่องจากว่าเส้นเหล็กฉีกขาดหากค่าอาจ error ได้