สุริยะ สั่งเช็กวัสดุอุปกรณ์ ก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน เน้นสัญญา 3-1 ผู้รับเหมากลุ่มเดียวกับตึก สตง.ถล่ม
วันที่ 1 เมษายน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากเหตุแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา และส่งแรงสั่นสะเทือนในหลายพื้นที่ของประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร(กทม.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการตรวจสอบทุกโครงการของ รฟท.
โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ทั้งหมด 14 สัญญา ระยะทางรวม 250.77 กม. ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลยุคที่แล้ว โดยการตรวจสอบดังกล่าว เพื่อสำรวจถึงผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ นายสุริยะ กล่าวว่า ตนสั่งให้ รฟท.ดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานของวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างของผู้รับเหมาทั้งระบบ โดยเฉพาะสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 9,348 ล้านบาท โดยมีผู้รับจ้างเป็น บจ.กิจการร่วมค้า ITD – CREC No.10 (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ และบริษัท ไชน่า เรลเวย์) ซึ่งมีหลายฝ่ายกังวลว่า เป็นบริษัทร่วมค้ากลุ่มเดียวกับที่สร้างตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) 30 ชั้น ที่เกิดเหตุถล่มลงมาจากแผ่นดินไหวช่วงที่ผ่านมา
นายสุริยะ กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้ผู้ว่า รฟท. ไปดำเนินการตรวจสอบโครงการอย่างละเอียดในทุกขั้นตอนว่า ช่วงที่ผ่านมามีการกำหนดสเปคอย่างไร ซึ่งในขณะนี้ รฟท.ได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบ ทั้งในส่วนของวัสดุอุปกรณ์ และขั้นตอนการก่อสร้าง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า มีความปลอดภัย พร้อมทั้งต้องมีความโปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
อย่างไรก็ตาม คาดว่า การตรวจสอบจะแล้วเสร็จภายในระยะ 2 วันนี้ อีกทั้งได้สั่งการให้ รฟท.แจ้งไปยังผู้ควบคุมงานให้ออกตรวจหน้างานอย่างสม่ำเสมอ หากพบสิ่งผิดปกติ จะแจ้งให้ผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขทันที หากไม่แก้ไข จะรายงานให้ รฟท.ออกคำสั่งหยุดงานทันที