ดีพร้อมหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน เร่งพีอาร์ สร้างเครือข่าย บางจากขอรัฐกำหนดนโยบายชัดเจน
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เดินหน้าพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ โดยมอบหมาย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ผสานความร่วมมือบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ 5 องค์กรธุรกิจชั้นนำ เร่งขับเคลื่อนการส่งเสริมการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือที่เรียกว่า SAF เพื่อสร้างเครือข่ายในการบริหารจัดการโซ่อุปทานของน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (Used Cooking Oil: UCO) สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบผลิต SAF ในเชิงพาณิชย์ มุ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมการบินไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(ดีพร้อม) ร่วมมือกับ บางจาก และ 5 องค์กรธุรกิจ คือ กลุ่มเซ็นทรัล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อสร้างเครือข่ายและส่งเสริมการบริหารจัดการโซ่อุปทานของ UCO สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต SAF ในเชิงพาณิชย์
น.ส.ณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีดีพร้อม กล่าวว่า ระยะแรกของความร่วมมือภายใต้ MOU นี้ มุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกลไกการบริหารจัดการโซ่อุปทานของ UCO สำหรับการผลิต SAF ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยมีขอบเขตการดำเนินงานตั้งแต่ การประชาสัมพันธ์ แนะนำ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้และความตระหนักตลอดโซ่อุปทานในกระบวนการรวบรวม UCO สู่การเพิ่มมูลค่าเป็น SAF ตามแนวทาง BCG Model อีกทั้ง ยังเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะภาคครัวเรือนให้หันมาให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จาก UCO โดยไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพและเกิดการจัดการอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่เพียงเป็นการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานและเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์การบินของประเทศ ยังส่งผลถึงความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บางจาก กล่าวว่า กลุ่มบริษัทบางจากมีความพร้อมในฐานะผู้บุกเบิกการผลิต Neat SAF 100% ในประเทศไทยด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญของไทย คือ 1.การสร้างความหลากหลายของวัตถุดิบสำหรับการผลิต SAF 2.การกำหนดนโยบายภาครัฐที่ชัดเจนหรือ mandate เพื่อผลักดันการใช้ SAF ในประเทศโดยเร็ว จึงขอเสนอให้กำหนดสัดส่วนการใช้ SAF ในอุตสาหกรรมการบิน ควบคู่กับการออกมาตรการสนับสนุนหรือสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม