คลังเร่งประเมินผลกระทบแผ่นดินไหว เล็งออกมาตรการแอลทีวี-ลดค่าโอน ฟื้นความเชื่อมั่นอสังหาฯ
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงหามาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยสิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การเรียกความเชื่อมั่น ซึ่งต้องพิสูจน์ด้วยหลักตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานของอาคารต่างๆ ด้วยหลักวิศวกรรม ตรวจสอบด้วยหน่วยงานที่มีมาตรฐาน เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏโดยเร็ว ว่าอาคารสูงเหล่านี้มีการก่อสร้างที่ทนต่อแรงแผ่นดินไหว
“ต้องยอมรับว่าคนที่อาศัยอยู่บนคอนโดมิเนียมสูง หรือสำนักงานสูงๆ ย่อมมีความกังวลใจ แต่หน่วยงานรัฐต้องเร่งตรวจสอบด้วยการนำหลักของวิศวกรรมมายืนยันข้อเท็จจริงว่าตึกหรืออาคารนี้มีความปลอดภัย อย่างไรก็ตามถึงแม้การเร่งสร้างความเชื่อมั่นจะต้องใช้เวลา ซึ่งรัฐบาลก็ได้เร่งดำเนินการแล้ว”นายเผ่าภูมิ กล่าว
นายเผ่าภูมิกล่าวต่อว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวได้สร้างผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลการอาศัยอยู่บนตึกสูง ซึ่งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้อยู่อาศัยด้วยหลักวิศวกรรมเช่นกัน ส่วนการกระตุ้นภาคอสังหาฯ นั้น รัฐบาลอยู่ระหว่างการหามาตรการเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเร็วๆนี้
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า สำหรับมาตรการที่จะมาช่วยกระตุ้นภาคอสังหาฯ ที่ใช้ได้ผลมากที่สุด ต้องดำเนินการพร้อมๆกัน 2 มาตรการ คือ มาตรการแอลทีวี และมาตรการลดหย่อนค่าโอน และค่าจดจำนอง ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าช่วยกระตุ้นภาคอสังหาฯ ได้เป็นอย่างดี ในช่วงหลังโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้นทันที
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ขณะเดียวกันกรมธนารักษ์เตรียมจะเสนอยกเว้นการจัดเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุ เพื่อเยียวยาและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ส่วนจะยกเว้นการจัดเก็บค่าเช่าเป็นระยะเวลาเท่าใดนั้น กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดทั้งหมด คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้เช่นกัน
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ภาพรวมผลกระทบระยะสั้นมีแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องความเชื่อมั่น และจิตใจ โดยเป็นเรื่องที่ภาครัฐ และหน่วยงานที่ตรวจสอบต้องเร่งดำเนินการ ทั้งนี้ ในทางเศรษฐกิจจะมีผลกระทบเรื่องการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง รวมถึงการเดินห้าง โดยเฉพาะตึกใหญ่ ฉะนั้น การบริโภคจะลดลง แต่ไม่มีผลต่อระยะกลาง และระยะยาว
“ประเทศไทยเราเจอแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งแรก ตึกเสียหายไป 1 ตึก แต่อีก 99.9% ไม่มีปัญหาอะไร และมีตึกที่ต้องตรวจและต้องพักการใช้อีกส่วนหนึ่ง แต่ไม่มีปัญหาอะไร ถือว่าประเทศไทยมีการก่อสร้างที่มีคุณภาพ ส่วนตึกที่มีปัญหา นายกฯ ได้ส่งการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบแล้ว”นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ยอมรับว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจะเป็นเรื่องคอนโด แต่อุปสงค์จะไปโผล่ที่อื่น เช่น ความต้องการซื้อคอนโดอาจจะลดลงบ้าง แต่จะไปซื้อบ้านหลังแทน รวมถึงการลงทุน อนาคตการก่อสร้างจะต้องเพิ่มโครงสร้างที่มีคุณภาพ ซึ่งจะมีเม็ดเงินที่ลงทุนเพิ่มเข้าไป ฉะนั้น ผลกระทบในระยะยาวจะไม่ถาวร จะปรับตัวไปตามดีมานด์และซัพพลาย