ไทยเจ้าภาพ ‘บิมสเทค’ ถก6 ผู้นำประเทศวันนี้ ธีม ‘มั่งคั่ง ยั่งยืน เปิดกว้าง’
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือบิมสเทค ครั้งที่ 6 ขึ้นในระหว่างวันที่ 2-4 เมษายนนี้ ที่โรงแรม แชงกรี-ลา ถือเป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ก่อนที่จะส่งมอบตำแหน่งประธานบิมสเทคให้กับบังกลาเทศต่อไป
ด้านผู้นำชาติสมาชิกบิมสเทคอีก 6 ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เนปาล ศรีลังกา และเมียนมา ต่างตอบรับที่จะเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง
ในส่วนพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ได้ประกาศยืนยันการเดินทางมาร่วมประชุมในไทยแล้ว และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีการประกาศเปลี่ยนแปลงใดๆ แม้หลายฝ่ายยังจับตาว่าเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายสัปดาห์จะทำให้ผู้นำเมียนมาเปลี่ยนแปลงแผนการของตนในท้ายที่สุดหรือไม่
สำหรับการประชุม”บิมสเทค”ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้ธีม บิมสเทคที่มั่งคั่ง ยั่งยืน และเปิดกว้าง หรือ Prosperous, Resilient and Open BIMSTEC (PRO BIMSTEC) จะเริ่มด้วยการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ตามด้วยการประชุมระดับรัฐมนตรี และในวันสุดท้ายจะเป็นการประชุมระดับผู้นำ โดยมีเอกสารสำคัญที่จะทำการรับรองในที่ประชุม อาทิ ปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทคครั้งที่ 6, การรับรองวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 (BIMSTEC Bangkok Vision 2030), การลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล
นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ผู้นำบิมสเทคทั้งหมดยังคงมีกำหนดจะเข้าร่วมประชุมในกรุงเทพ แม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนในส่วนของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย หลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในประเทศ แต่ผู้นำเมียนมาก็สามารถร่วมประชุมออนไลน์ได้เช่นกัน
นายนิกรเดชกล่าวว่า ในห้วงการประชุมผู้นำบิมสเทคจะมีการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำสองประเทศสมาชิกบิมสเทคตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายเค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีเนปาล ระหว่าง วันที่ 1-5 เมษายน 2568 เพื่อหารือทวิภาคีและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจระหว่างกันหลายฉบับ เป็นการเยือนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีเนปาล ตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เนปาล เมื่อปี 2502 และจะเป็นโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายหารืออย่างรอบด้านเพื่อยกระดับความร่วมมือในหลากหลายสาขา โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน เกษตรกรรม สาธารณสุข การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมบริการ
นายนิกรเดชกล่าวว่า ผู้นำอีกท่านคือนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย จะเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน ทั้งสองฝ่ายจะประกาศยกระดับความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย สู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ และร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจหลายฉบับเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีโมดีและนับเป็นการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของผู้นำอินเดียในรอบ 12 ปี อีกทั้งจะหารือเกี่ยวกับแนวทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีและขยายความร่วมมือในหลายด้าน อาทิ ความร่วมมือด้านการเมือง การทหาร การค้าและการลงทุน ความเชื่อมโยง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งเทคโนโลยีอวกาศซึ่งอินเดียมีความเชี่ยวชาญ