RESAM แนะใช้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสอบความปลอดภัยอาคาร แล้วออกใบรับรอง หวังฟื้นเชื่อมั่นผู้อยู่อาศัย

RESAM แนะใช้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ตรวจสอบความปลอดภัยอาคาร แล้วออกใบรับรอง หวังฟื้นเชื่อมั่นผู้อยู่อาศัย ย้ำหากปล่อยไว้นานจะกระทบตลาดอสังหาฯหนัก

เมื่อวันที่ 2 เมษายน นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์นพร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะอุปนายสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ (RESAM) และอุปนายกสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด เป็นเหตุให้อาคารสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ถล่ม และมีอาคารสำนักงาน และคอนโดมิเนียม ได้รับผลกระทบจากแรงสั่งสะเทือน ทำให้ประชาชน หรือลูกบ้านเกรงกลัวไม่กล้าเข้าไปอยู่อาศัย จนหลายฝ่ายคาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อยอดขายอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมแน่ ดังนั้น ตนและนายปรีชา ศุภปิติพร นายกสมาคม RESAM จึงขอเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยกันฟื้นฟูความเชื่อมั่นกลับมา โดยมองว่าการสร้างความเชื่อมั่นดังกล่าว ดำเนินการได้ใน 4 ประเด็นประกอบด้วย

1.การตรวจสอบอาคาร และออกใบรับรองการตรวจสอบอาคารโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ที่มีกฎหมายรองรับ ตามกฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร พ.ศ. 2548 ซึ่งกำหนดให้มีการตรวจสอบขนาดใหญ่ด้านความปลอดภัยทุก 5 ปี ครั้ง และตรวจสอบย่อยทุก 1 ปี รวมทั้งดูโครงสร้างของอาคารต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีมีความเสี่ยงปานกลาง หรือโซน 2 ซึ่งกทม.และเชียงใหม่ ว่ามีความแข็งแรงมั่นคงหรือไม่ หากพบมีความแข็งแรงก็ให้ออกใบรับรองเป็นลายลักษณ์อักษร หากอาคารใดตรวจสอบแล้วเห็นว่าต้องซ่อมแซมก็ต้องซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ ส่วนอาคารไหนเสียหายมาก ไม่มีความแข็งแรงก็ต้องทุบทิ้ง เพราะหากยังไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ เชื่อว่ากระทบอีกนาน เพราะคงไม่มีสถาบันการเงินไหนกล้ารับจำนอง และคนอยู่เองก็ไม่กล้าเสี่ยง

2.การบริหารอาคาร ซึ่งปัจจุบันอาคารขนาดใหญ่ และคอนโดมิเนียมจะมีผู้บริหารอาคารอยู่แล้วในรูปแบบนิติบุคคลอาคารชุด แต่ก็ยังพบว่ามีอีกหลายแห่งโดยเฉพาะอาคารสำนักงานที่เจ้าของสร้างใช้เองมีพนักงานอยู่ในอาคารตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปนั้นพบว่าส่วนใหญ่ยังไม่มีผู้บริหารงานอาคารที่มีความชำนาญในการดูระบบต่างๆ ดังนั้นอาคารเหล่านี้ต้องมีผู้บริหารอาคารด้วย เพื่อตรวจสอบระบบต่างๆ เป็นประจำเพื่อสร้างความปลอดภัยในอาคาร

ADVERTISMENT

3.การทำประกันวินาศภัย ซึ่งปัจจุบันการทำประกันภัยดังกล่าวจะมีครอบคลุมอัคคีภัย ภัยน้ำท่วม เป็นหลัก ส่วนวินาศภัยจากแผ่นดินไหวนั้นมีการให้ความสำคัญน้อยมากคือมีการให้สินไหมหรือการคุ้มครองแค่ 10-20% เท่านั้น ดังนั้นควรมีการปรับปรุงเรื่องดังกล่าวให้เหมือนกันพวกการทำประกันอัคคีภัย เพื่อเวลามีปัญหาจะได้รับสินไหมทดแทนเต็มจำนวนด้วย

4.ภาครัฐควรจะต้องมีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งกฎหมายควบคุมอาคารและการก่อสร้างอาคารต้องออกแบบป้องกันแผ่นดินไหวในระดับที่มากขึ้นกว่ากฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ADVERTISMENT

นายวสันต์กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวทั้ง 4 ข้อ จะต้องดำเนินการร่วมกัน โดยเริ่มที่ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย และผู้ประกอบการที่ต้องกาารขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งระหว่างการก่อสร้าง เช่นใครคือผู้ออกแบบ รับเหมาะก่อสร้าง และใครคือวิศวกรควบคุมการก่อสร้าง และเมื่อการการสร้างเสร็จแล้วก็ต้องดูต่อว่ามีการบริหารอาคารเป็นอย่างไร ตรวจสอบอาคารอย่างไรบ้าง ส่วนภาครัฐก็ต้องมีการทบทวนกฎหมายที่มีอยู่ด้วยว่าควรแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่

“ต้องรีบดำเนินการเหล่านี้เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะเชื่อว่าหากไม่มีการดำเนินการอะไรในเรื่องนี้กว่าตลาดอสังหาฯจะฟื้นกลับมาได้คงต้องใช้เวลานาน เพราะรุนแรงกว่าช่วงน้ำท่วมปี 54 ที่กวาตลาดจะฟื้นมาได้ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน แต่กรณีแผ่นดินไหวรอบนี้น่าจะมากกว่านี้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image