อดีตรมต.-ปลัดอุตฯ ชี้สหรัฐขึ้นภาษีไทย 36% “บอกราคาเผื่อต่อ” แนะไทยตั้งสติเดินหน้าเจรจา
ดร.สมชาย หาญหิรัญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โพสต์เฟซบุ๊กกรณี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีไทยเป็น 36% ระบุว่า คำว่า Moral กับ Interest มาใช้กับสหรัฐฯ ไม่ได้ครับ และสหรัฐ วันนี้ประกาศให้โลกรู้ครับว่า เขาต้องการ “ลูกไล่” ไม่ใช่เพื่อน หรือพันธมิตร
USA ประกาศขึ้นภาษีศุลกากร กับประเทศคู่ค้าสำคัญ ถ้วนหน้าเมื่อคืนนี้ ประเทศไทยโดนเฉลี่ย 36% ในขณะที่จีนโดน 34% เวียดนามโดน 46% และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆเช่น ศรีลังกา 44% บังคลาเทศ 37% เขมร 49% ปากีสถาน 29% ญี่ปุ่น 24% เกาหลีใต้ 25% EU 20% อินเดีย 26% แม้แต่ ไต้หวัน 32% อื่นๆ ทุกรายครับ
เหตุที่ไทยโดน 36% นั้น เพราะเขามองว่าภาษีศุลกากรไทย ทั้งในรูปแบบที่เป็น tariff และ non tariff คำนวณแล้วคิดเป็น tariff ที่ 72% ผมคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากบอกราคาเผื่อต่อ
นี่คือกลยุทธ์การหาผลประโยชน์ โดยการเคาะกะลา ตีเมืองขึ้น หรือวางจุดการต่อรองให้ได้เปรียบใว้ก่อน หรือบอกเผื่อต่อเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ให้ตัวเอง ผมว่าถ้าผมเป็นบริษัทขายอาวุธหรือบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการเงิน หรือเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ผมจะลงขันให้ Trump เป็นประธานาธิบดีต่อไม่จำกัดอายุ โคตรคุ้ม
ดูว่าใครจะยอมเสียอะไร เพราะจุดเริ่มต้นการเจรจาต่อรองตั้งไว้สูง นึกถึงไปซื้อของในตลาดที่ต่อราคาได้ พ่อค้ามักจะตั้งราคาสูงปรี๊ดไปก่อน เพื่อให้เราต่อรอง ใครเรียนเศรษฐศาสตร์ในบทที่ว่าด้วย ทฤษฎีเกม ก็จะพอรู้ครับ ว่าคนขายนั้นอยากได้ราคาที่สูงที่สุด เท่าที่คนซื้อจะจ่ายได้ ในขณะที่คนซื้อก็อยากจะจ่ายต่ำที่สุดเท่าที่คนขายจะรับได้ แต่วันนี้คนขายเริ่มตั้งราคาสูงมากจนเลย ราคาที่คนซื้อจะรับได้
ดังนั้น สิ่งแรกที่คนซื้อทำในการต่อรองราคา ก็คือต้องไม่ตกใจจนเกินไปในการต่อรองราคาและอย่าเสนอราคาที่เราจะจ่ายได้เต็มที่ แต่จะต้องตั้งสติ และพยายามมองหาราคาที่เขาจะรับได้ต่ำสุด แล้วในที่สุดราคาก็จะตกลงกันตรง ระหว่างราคาสูงสุดที่เราจะจ่ายได้ และราคาที่ต่ำสุดที่เขาจะรับได้ หากตกใจ จนขาดสติ ในการเจรจาต่อรองแล้ว จะจบที่ราคาสูงสุดเท่าที่เราจะรับได้ ซึ่งคนขายก็จะได้กำไรมหาศาล
นึกถึงวิชานี้ ไม่ได้สอนมาสามปีละนิ แต่ก็ยังมองเห็นสถานการณ์แบบนี้ตั้งแต่นั่งบนโต๊ะเจรจา FTA มาเป็นสิบปี ผมยังบอกว่าหลักเศรษฐศาสตร์ สามารถใช้ได้กับทุกเรื่องจริงๆ เพียงแต่เราต้องเข้าใจ เศรษฐศาสตร์อย่างแท้จริงว่ามันไม่ใช่แค่ demand และ Supply และสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่มันคือเรื่อง “ใจ” ล้วนๆ
ดังนั้นคำว่า Preferences เป็นหัวใจสำคัญในเรื่องนี้ ต้องอ่านใจสหรัฐว่าอะไรคือ Preferences ของคุณทรัมป์ และสหรัฐฯ ผมว่างานนี้คงจบด้วย สหรัฐได้ “ลูกไล่” อีกหลายราย หรือ BRICs คงแข็งแกร่งขึ้นอีกเยอะครับ