ดร.อมรเทพ แนะไทยแสดงความจริงใจ ทำตามข้อเสนอทรัมป์ พร้อมหาทางต่อรอง หวั่นจีดีพีโตต่ำกว่า 2%

ดร.อมรเทพ แนะไทยแสดงความจริงใจ ทำตามข้อเสนอทรัมป์ พร้อมหาทางต่อรอง หวั่นจีดีพีโตต่ำกว่า 2%

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีไทยเป็น 36% ว่า เมื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ​คือความมั่นคงของชาติ​ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าแบบตอบโต้ชาติต่างๆ​ (นี่แบบลดราคาให้แล้วครึ่งนึง)​

พร้อมประกาศว่าเป็น​ Liberation day หรือวันปลดแอกที่สหรัฐถูกชาติต่างๆ ​แย่งชิงทรัพยากรและความมั่งคั่งไป​ พร้อมจะตอบโต้แบบตาต่อตา​ คือใครทำอะไรกับสหรัฐ​ สหรัฐก็จะทำคืน​ และบอกว่าภาษีที่จัดเก็บได้นี้จะมาลดหนี้​ นำมาใช้จ่ายให้คนสหรัฐ​

ผมมองต่อได้คือ

ADVERTISMENT

1. ทรัมป์ตั้งใจลดการพึ่งพิงจีนและชาติที่ไม่ใช่พันธมิตร​แท้ๆของสหรัฐ​ อยากย้ายฐานการผลิตกลุ่มชิป​ เซมิคอนดักเตอร์​ โทรศัพท์​มือถือ​ คอมพิวเตอร์​และรถยนต์​กลับมาสหรัฐ​ โดยการขึ้นภาษีเพื่อให้โรงงานในตปท.ย้ายกลับไปตั้งฐานในสหรัฐ​ รวมทั้งเตรียมความพร้อมหากเกิดสงคราม​ เช่นยาและเวชภัณฑ์​อื่นๆ​

2. ตั้งใจแก้ปัญหา​ระยะยาว​ เพราะหากทรัมป์ไม่ทำอะไร​ ประสิทธิภาพ​การผลิตในสหรัฐจะแย่ลง​ ต้องสู้เพื่อให้ประเทศอื่นยอมลดภาษีนำเข้า​ ข้อจำกัดทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี​ มีการอุดหนุนสินค้าส่งออก​แย่งทรัพย์สิน​ทางปัญญา​ ใช้ระบบ​ VAT​ เพื่อเอาเปรียบสินค้าจากสหรัฐ​ การบิดเบือน​ค่าเงิน​ และอื่นๆ​ (ส่วนของ​ Non tariff barrier มีมากและยากที่จะประเมิน)

ADVERTISMENT

3. ทรัมป์ในช่วงนึงหยิบยก​รายงานของตัวแทนการค้าสหรัฐ​ Foreign Trade​ Barrier ขึ้นมา​ อ่านรายละเอียดแล้วจะรู้ว่าชาติต่างๆ​ เก็บภาษีจากสหรัฐอย่างไร​ เช่นสหรัฐเก็บภาษีนำเข้ารถมอเตอร์ไซค์​จากประเทศอื่น​ 2.4% แต่ไทยเก็บจากสหรัฐ​ 60% เวียดนามเก็บที่​ 75% หรือด้านรถยนต์ที่สหรัฐเก็บจากประเทศอื่น​ 2.5% แต่ยุโรปเก็บจากสหรัฐ​ 10% แถมมี​ VAT อีก​ 20% และยังบอกว่ามีมาตรการอื่นนอกจากภาษีอีกมาก​ จนรถในเกาหลีใต้เป็นรถที่ผลิตเอง​ 81% ญี่ปุ่น​ 94% แทบไม่มีรถนำเข้า​ (ผมคุ้นๆว่าในสหรัฐครึ่งต่อครึ่งเป็นรถที่ผลิตเองและรถนำเข้า)​

อีกทั้งกลุ่มภาคเกษตรที่ต่างชาติห่วงว่าสินค้านำเข้าจะกระทบเกษตรกร​ ทรัมป์บอกเขาจะเอาคืน​ด้วยการเก็บภาษี​ เพราะบางประเทศ​เช่นออสเตรเลีย​ไม่ให้นำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐ​ หรือจีน​ เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเก็บภาษีนำเข้าข้าวสูงมาก​

4. ภาษี​ Universal tariff (ทรัมป์เรียกว่า​ minimum cheating) จะเก็บที่​ 10% ในวันที่​ 5 เมษายน​ ส่วน​ Reciprocal tariff จะเก็บวันที่​ 9​ เมษายน​ (ภาษีจากจีนจะพุ่งไป​ 54%) ขณะที่ภาษีจากแคนาดาและแมกซิโกจะเลื่อนไปรอดูการตรวจสอบการแก้ปัญหายาเสพติด​และผู้อพยพ​ผิดกฎหมาย

5. ทรัมป์วางแผนจะใช้ภาษีนี้ลดหนี้​ และกล่าวถึงแผนการจะลดภาษีในประเทศ​ รวมทั้งการเลื่อนการชำระหนี้​ (debt extension) ซึ่งประเด็นหลังนี้จะรอดูความชัดเจนว่าจะเป็นการสลับหนี้สั้นไปหนี้ยาวอย่างที่เป็นข่าวไหม​ แล้วดอกเบี้ยจะคิดอย่างไรซึ่งอาจกระทบตราสารหนี้

6. แนวทางแก้ปัญหาหลังจากสงครามการค้ารุนแรง​-ทรัมป์บอกวิธีแก้ไว้แล้วว่า​ ให้ลดภาษีนำเข้า​ ยกเลิก​ non tariff barrier หยุดบิดเบือน​ค่าเงิน​ เร่งนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ​ และมาลงทุนที่สหรัฐ​ ส่วนประเทศต่างๆ​ เตรียมรับมือเช่นกัน​ เช่น​ ยุโรปกำลังหามาตรการกระตุ้น​เศรษฐกิจ​ ส่วนจีนจะหามาตรการจำกัดการย้ายฐานไปสหรัฐเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง​

แล้วไทยจะทำอะไรได้หลังจากนี้​ ผมมองว่าน่าจะทำตามที่ทรัมป์เสนอ​บ้าง​ อย่างน้อยก็แสดงความจริงใจ​ และเพิ่มการต่อรอง​ เร่งให้ข้อมูลว่าตัว​ภาษีที่ไทยเก็บจากสหรัฐไม่ได้สูงอย่างที่สหรัฐเห็น​ แต่ต้องเร่งประสานงาน​ว่าเขาใช้อะไรวัด​

ขณะเดียวกันเราต้องเตรียมแผนรับมือผลกระทบด้วย​ เช่น​ การสวมสิทธิ​จากจีน​ สินค้า​จีนทะลักกระทบภาคการผลิตไทย​ และหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ​ ไม่ใช่เพียงแจกเงิน​ แต่ต้องสร้างความเชื่อมั่น​ สร้างงาน​ สร้างรายได้​ หามาตรการทางการเงินดูแลผู้ได้รับผลกระทบ​ คาด​ว่าหากเจรจายาก​ และภาษีเกิดจริง​ กนง.น่าลดอัตราดอกเบี้ย​ลงรอบ​ 30​ เมษายน​นี้​

ส่วน​ GDP ​ไทยจะกระทบแค่ไหน​ ผมห่วงว่ามีโอกาสโตต่ำ​ 2% เป็น​ downside risk (เราส่งออกสินค้านับเป็น​ 60% GDP​ ส่งไปสหรัฐเกือบ​ 20% ของการส่งออกทั้งหมด​ รวมๆ​ เกิน​ 10% ของ​ GDP​ ไทย​ ถ้าส่งออกไปสหรัฐติดลบจะกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม​ ทางตรงก็ก้อนใหญ่ที่ส่งไปสหรัฐ​ ทางอ้อมคือที่ส่งไปประเทศอื่น​ อย่างจีน​ เวียดนาม​ ยุโรปที่จะลำบากมากขึ้นตามกำลังซื้อที่อ่อนแอลง)

ส่วนท่องเที่ยวก็น่ากระทบด้วย เพราะคนขาดความเชื่อมั่นและกำลังซื้อ​ จำนวนนักท่องเที่ยวอาจโตจากปีก่อนที่​ 35.5 ล้านคนมาแถวๆ​ 37-38 แทนที่จะทะลุ​ 39​ ไว้จะรอประเมินกันอีกทีครับ​ แต่ความชัดเจนน่าเกิดก่อนสงกรานต์​นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image