พิชัย รับ ตกใจมะกันเก็บภาษีนำเข้าไทย 36% ย้นพร้อมเดินหน้าเจรจา วอนอย่าเพิ่งกังวลกระทบจีดีพี
เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่ ห้องประชุมมโนปกรณ์นิติธาดา ชั้น 12 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง กรณีที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นเป็น 36% ว่า ยอมรับว่าค่อนข้างตกใจ เนื่องจากปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าตัวเลขที่ประเมินไว้ในตอนแรก
นายพิชัย กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้คือ รัฐบาลจะต้องหาทางเข้าไปเจรจากับทางสหรัฐฯ ซึ่งทางรัฐบาล โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ตั้งคณะทำงานนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาขึ้นมาแล้ว รวมถึงได้ติดต่อขอทำนัดเจรจากัสหรัฐฯ ไปสักระยะแล้วเช่นกัน ตอนนี้อยู่ระหว่างการรอตอบรับนัด จากทางสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากทางฝั่งสหรัฐฯตอบรับนัดทางฝ่ายไทยก็จะเข้าไปเจรจาทันที ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และทางคณะทำงานมีการเตรียมข้อมูลไว้แล้วว่า จะเจรจากับสหรัฐฯอย่างไร
นายพิชัย กล่าวว่า ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีการวิเคราะห์เบื้องต้นกันว่า ทางสหรัฐฯ อาจจะใช้คำนวณรวมภาษีโดยตั้งไว้ที่ 72% แล้วหารสอง จึงเหลือที่ 36% ทั้งนี้ ตนต้องบอกว่า ทุกประเทศได้รับผลกระทบทั้งหมด อย่างประเทศไปได้ไปเจรจากับสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ เช่น เวียดนาม ก็ถูกเก็บภาษีเพิ่มเป็น 46% และญี่ปุ่น 24% ทั้งนี้ แนวทางปฏิบัติหลังจากนี้ ต้องเร่งเจรจากับสหรัฐว่าจะทำอย่างไรให้ลดภาษีนำเข้าตรงนี้ให้ได้ รวมถึงต้องพยายามหาแนวทางเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่ม เอสเอ็มอี หรือ ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่ต้องนำเข้าส่งออกสินค้ากับสหรัฐฯ เช่นกัน
“การปรับขึ้นภาษีนำเข้าครั้งนี้จะส่งผลต่อตัวเลยจีดีพีของไทยหรือไม่นั้น ตรงนี้ยังไม่อยากให้กังวล และไม่อยากให้ตีข้อสรุปไปก่อน เพราะยังไม่รู้ว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร แต่ภาพรวมทิศทางทางส่งออกของไทยขณะนี้ยังดีอยู่ โดยสถิติการส่งออกช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 11.8%”
นายพิชัยกล่าวว่า สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการออกมาตรการ Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน 2568 อาทิ
• เครื่องโทรศัพท์รวมถึงสมาร์ทโฟนและเครื่องโทรศัพท์อื่น ๆ (สัดส่วน 12.5% ต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ รวม) อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บ ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น เวียดนาม (ครองส่วนแบ่งอันดับ 2) (46%)
• เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (สัดส่วน 11.1% ต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บ ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น เวียดนาม ครองส่วนแบ่งอันดับ 4 (46%)
• ยางรถยนต์ (สัดส่วน 6.4% ต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ รวม) อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บ ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น เวียดนาม ครองส่วนแบ่งอันดับ 5 (46%)
• เซมิคอนดักเตอร์ (สัดส่วน 4.5% ต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ รวม) อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บ ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น เวียดนาม ครองส่วนแบ่งอันดับ 1 (46%)
• หม้อแปลงไฟฟ้า (สัดส่วน 3.8% ต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ รวม) อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บ ยังต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอื่น เช่น เวียดนาม ครองส่วนแบ่งอันดับ 5 (46%)