พาณิชย์ คาดทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้า ฉุดส่งออกไทยปีนี้วูบ 8.8 แสนล. เปิด 3 แนวทางเจรจามะกัน
เมื่อวันที่ 3 เมษายน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่ประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ ประกาศปรับขึ้นภาษีตอบโต้( Reciprocal Tariff) ไทยในอัตรา 36% ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9เม.ย.นี้ว่า ว่ายอมรับว่าตกใจที่สหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีนำเข้าไทยสูงกว่าที่คาด สาเหตุที่อาจจะเกิดจากสหรัฐมีการนำประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรมทางการค้า และการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่ไทยใช้สหรัฐฯเข้ามารวมด้วย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแผนเจรจาต่อรองในช่วงที่ภาษียังไม่มีผลบังคับใช้แล้ว รอแค่ว่าสหรัฐฯ จะรับนัดเมื่อไร ขอให้ทุกฝ่ายอย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ เรายังมีความหวังที่จะต่อรองได้ รวมทั้งการขึ้นภาษีครั้งนี้ก็เป็นการขึ้นภาษีกับประเทศต่างๆ ทั้งโลก
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ถือว่าเกินความคาดหมายสำหรับไทย โดยอัตราภาษีที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถือเอกสารตอนแถลงข่าวอยู่ที่ 36% แต่ในเอกสารประกอบคำสั่งฝ่ายบริหารอยู่ที่ 37% แต่ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย. ยังมีเวลาที่ไทยจะเจรจาต่อรองได้ โดยไทยพร้อมที่จะเจรจาทุกเมื่อ รอเพียงให้สหรัฐฯ รับนัดมา ถ้าเดินทางไปไม่ทัน ก็จะมีทีมไทยแลนด์ ที่เป็นเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงอชิงตัน ดีซี. เป็นหัวหน้าคณะ แต่หากมีเวลาเดินทางไป รมว.พาณิชย์จะเป็นหัวหน้าคณะไปเจรจาเอง
“ก่อนหน้านี้คาดว่าถ้าสหรัฐฯ ขึ้นภาษีตอบโต้ไทย 11% การส่งออกจะเสียหาย 7,000-8,000 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 1 ปี แต่ขณะนี้สหรัฐขึ้นภาษีเราสูงถึง 37% ก็อาจจะทำให้การส่งออกเสียหาย 25,000-26,000 ล้านเหรียสหรัฐ หรือราว 850,000-884,000 ล้านบาท หากไทยไม่ทำอะไรเลย แต่ถ้าเจรจาต่อรองแล้ว เป็นผลสำเร็จ ก็อาจไม่เกิดความเสียหาย หรือเสียหายลดลง ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยปีนี้ที่ตั้งเป้าหมายขยายตัว 2-3% หรือไม่ จะต้องรอดูผลการเจรจาอีกครั้ง”
สำหรับแนวทางการเจรจากับสหรัฐฯ 1.ไทยจะลดภาษีสินค้านำเข้าสินค้าบางรายการให้กับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าอยู่แล้ว แต่นำเข้าจากแหล่งอื่น อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง รวมถึงเพิ่มการลงทุนด้านพลังงานในสหรัฐฯ 2.เพิ่มปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ยังไม่เคยนำเข้าจากสหรัฐฯ 3.ลดเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าของสหรัฐฯ โดยมั่นใจว่า จะเจรจาต่องรองกับสหรัฐฯ ได้ ทุกอย่างเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่การเจรจาด้านการค้าสินค้าเท่านั้น แต่จะทำทุกมิติ ทั้งการค้าบริการที่สหรัฐฯ ได้ดุลไทยจำนวนมาก การลงทุน การเป็นพันธมิตรที่ดี และหากให้คะแนนความสำเร็จ ถ้าได้เจรจากัน น่าจะได้ถึง 7-9 เต็ม 10
นายวุฒิไกรกล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้น พบว่า สินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบมาก จะเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่าสูง โดยสินค้า 15 อันดับแรกที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มาก ได้แก่ 1.โทรศัพท์มือถือ 2.ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 3.ยางรถยนต์ 4.เซมิคอนดักเตอร์ 5.หม้อแปลงไฟฟ้า 6.ชิ้นส่วนอุปกรณ์การพิมพ์ 7.ชิ้นส่วนรถยนต์ 8.อัญมณี 9.เครื่องปรับอากาศ 10.กล้องถ่ายรูป 11.เครื่องปริ้นเตอร์ 12.วัตถุดิบอาหารสัตว์ 13.แผงวงจรอิเลกทรอนิกส์ 14.ข้าว และ 15.ตู้เย็น
ส่วนการพิจารณามาตรการเยียวยาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จะมีการหารือกับนายพิชัย ชุณหชวิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เช่น อาจจะมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือ หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยจะกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องเป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย และมีการส่งออกไปสหรัฐฯ เพราะตัวเลขพวกนี้ มีข้อมูล มีสถิติชัดเจนอยู่แล้ว