แผ่นดินไหว เขย่าขวัญไทย หวังไม่กระทบสงกรานต์ ดันใช้จ่าย 1.34 แสนล้าน โตสุดนับจากปี’63
เมื่อวันที่ 3 เมษายน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 28 มีนาคม 2568 จากการประเมินพบว่า มีผลกระทบทำให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลง รวมถึงมีการลดลงของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยได้แบ่งคาดการณ์เป็น 3 กรณี ได้แก่ กรณีแย่กว่า (Worse Case) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คิดเป็น 22,072.4 ล้านบาท คิดเป็นการติดลบ 0.12% ต่อจีดีพี กรณีฐาน (Base Case) คิดเป็น 15,747.8 ล้านบาท ติดลบ 0.08% ต่อจีดีพี และกรณีดีกว่า (Better Case) คิดเป็น 10,637.6 ล้านบาท ติดลบ 0.06% ต่อจีดีพี
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากการเกิดเหตุแผ่นดินไหว ความตื่นตระหนก (แพนิก) ยังคงมีอยู่ แต่หลายภูมิภาคไม่ได้รับผลกระทบ หนักๆ จะเป็นกรุงเทพฯ และภาคเหนือ ทำให้การจับจ่ายใช้สอยไม่น่าจะกระทบกระเทือนมากนัก ทั้งในส่วนของประชาชนและภาคเอกชน ตัวเลขการใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์นี้จึงใช้ได้อยู่ เงินสะพัดอาจมีผลย่อลง 1-2 สัปดาห์ที่หดหายไปประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ทำให้มองว่า การใช้จ่ายสงกรานต์ไม่น่าจะกระทบกระเทือนแล้วในส่วนของคนไทย ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต้องประเมินอีกครั้ง แต่มองว่าไม่ได้มีผลกระทบสูงมากนัก
“ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่ประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาทในการประเมินช่วงแรก จนมีภาพการได้รับแรงสั่นสะเทือน มีการอพยพคนจากอาคารต่างๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยเขย่าความรู้สึกของคนต่อเนื่อง รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการตัดสินใจมาเที่ยวไทย ผลกระทบจึงยังคงเส้นคงวา ตามที่ประเมินไว้ แต่ต้องติดตามว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมามากน้อยเท่าใด โดยจุดที่เป็นประเด็นสำคัญคือ อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แต่ไม่มีภาพโรงแรม อาคารสูงได้รับผลกระทบ เสียหายอะไรมากนัก เมื่อนักท่องเที่ยวได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาช่วงสงกรานต์มากขึ้น จึงคาดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 1.5-4 แสนคน ผลกระทบไม่เกิน 1-2.2 หมื่นล้านบาท กระทบเศรษฐกิจ 0.1% ของจีดีพี” นายธนวรรธน์ กล่าว
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในส่วนสงกรานต์ปี 2568 จากการสำรวจ 1,300 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 23-30 มีนาคม 2568 คาดว่าจะออกไปเล่นสงกรานต์ 69.2% ไม่ไปเล่น 30.8% กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการทำบุญ 66.2% ไหว้พระขอพระสิ่งศักดิ์สิทธิ 40.5% เล่นน้ำสงกรานต์ 30.8% สังสรรค์จัดเลี้ยง 26.3% พักผ่อนอยู่บ้าน 25.5% โดยมีการวางแผนท่องเที่ยว 72% ถือเป็นการวางแผนท่องเที่ยวมากขึ้นเทียบกับปีก่อนหน้า โดยคาดการณ์เงินสะพัดอยู่ที่ 134,631.73 ล้านบาท ขยายตัว 4.5% และควรไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวมากนัก ทำให้การใช้จ่ายสงกรานต์สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา สะท้อนถึงสงกรานต์กลับมาเป็นปกติมากแล้วในสายตาของประชาชน