อมรเทพ ชี้ไทยเผชิญปัญหาส่งออกศูนย์เหรียญซ้ำเติมผลกระทบสหรัฐลงดาบขึ้นภาษีไทย

อมรเทพ ชี้ไทยเผชิญปัญหาส่งออกศูนย์เหรียญ ซ้ำเติมผลกระทบสหรัฐ ลงดาบขึ้นภาษีไทย

เมื่อวันที่ 3 เมษายน นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า การปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากไทยของสหรัฐถือว่าเกินคาดหมาย สร้างความตกใจค่อนข้างมาก เพราะการขึ้นภาษีถึง 36% จากเดิมที่คำนวณได้กว่า 72% นั้น ไม่แน่ใจว่าเป็นการคำนวณจากอะไร เพราะไทยคิดภาษีจากสหรัฐเพียง 10% เท่านั้น โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ดูเหมือนจะโกรธจากการกีดกันทางการค้าที่มองว่าเราอาจได้เปรียบสินค้านำเข้าจากสหรัฐ การบิดเบือนค่าเงิน ข้อจำกัดอย่างการไม่นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เราต้องเร่งแก้ไข เพราะความจริงเราเห็นสัญญาณที่สหรัฐส่งมาถึงนานมากแล้ว ทรัมป์ดำเนินการตามที่หาเสียงไว้ชัดเจน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการเร่งทำรายงานชี้แจ้ง และแก้ไขลดการเกินดุลการค้าสหรัฐ ซึ่งประเทศอื่นมีการแก้ไขปัญหาแบบนี้กันตั้งแต่ช่วงแรกๆ แล้ว

“รัฐบาลไทยน่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหากันอยู่เบื้องหลัง จึงไม่ได้ต่อว่าอะไร แต่ต้องมองการเดินหน้าต่อไป ปิดการขาดดุลตรงนี้ให้ได้ เพราะสหรัฐถือเป็นตลาดใหญ่ของไทย 20% ของมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐ คิดเป็น 10% ของจีดีพีไทย หากไม่ทำอะไรจะมีผลกระทบแน่นอน แม้มีเป็นบริษัทสหรัฐที่เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยด้วย แต่เนื่องจากเรามีการเก็บภาษีที่สูงกว่าสินค้าสหรัฐที่เข้ามา อาทิ หมวดรถยนต์ ไทยเก็บจากสหรัฐ 60 แต่สหรัฐเก็บจากไทยเดิม 2.5% เท่านั้น ซึ่งต้องแก้ไขตรงนี้ควบคู่ไปกับการเปิดเจรจาการนำเข้า แก้ภาษีต่างๆ และดูแลผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการประเทศไทยด้วย” นายอมรเทพ กล่าว

นายอมรเทพ กล่าวว่า ในวันนี้ยอมรับว่ายากมากๆ เพราะนอกจากจะต้องเจรจากับสหรัฐในการเปิดตลาด ชะลอไม่ให้เก็บภาษีและต้องส่งออกให้ได้ตามปกติ ขณะเดียวกันก็ต้องตั้งรับสินค้าที่ทะลักเข้ามาสวมสิทธิจากไทยส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐ ที่ปัจจุบันอาจเรียกว่าส่งออกศูนย์เหรียญ เพราะเป็นการนำวัตถุดิบเข้ามาแทบทั้งหมด มูลค่าที่ควรจะได้มีน้อย ทำให้ต้องมาดูว่าเราจะตั้งรับอย่างไร เพราะมีทั้งขาที่ต้องเจรจากับจีน และสหรัฐ ว่าจะเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพในการผลิตได้อย่างไร โดยต้องลืมการเกินดุลการค้าสหรัฐไปก่อน ต้องดูว่าเกินดุลการค้ากับประเทศอื่นอย่างไร พยายามตั้งหลักให้ดี ดูภาคการผลิตของไทย ว่าควรดำเนินการอย่างไร เพราะภาคการผลิตของไทยก็มีความอ่อนแอแม้เกินดุลส่งออกสินค้า ซึ่งจะแก้ไขอย่างไรให้ครบวงจร

ADVERTISMENT

นายอมรเทพ กล่าวว่า ไตรมาส 2/2568 ที่เพิ่งเริ่มต้นเดือนเมษายนมานี้ มองว่าเป็นช่วงที่เริ่มหนักแล้ว สงครามการค้ามาเร็วขึ้น จึงต้องดูว่ามาตรการตั้งรับต้องทำอย่างเร่งด่วน ทั้งการส่งออก และในประเทศ เพราะภาคการผลิตกำลังจะถูกผลกระทบค่อนข้างมาก จากดัชนีภาคการผลิตที่อ่อนแอมากอยู่แล้ว ซึ่งมาตรการทางการเงินจะต้องเข้ามามองว่าจะดูแลผู้ได้รับผลกระทบทำได้อย่างไร เพราะผลกระทบจะเป็นลูกโซ่และเห็นชัดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยแนวทางแก้ไขปัญหาคือ วางแผนเจรจาการค้าในเรื่องการเก็บภาษีจากสหรัฐต้องมีความเสมอภาคกัน สินค้าส่งออกไปสหรัฐจะต้องระบุว่าผลิตและใช้วัตถุดิบของไทยมากที่สุด การบิดเบือนค่าเงิน ทรัพย์สินทางปัญญา และบริษัทที่ผลิตสินค้าในไทย อาจต้องย้ายไปผลิตสินค้าที่สหรัฐ เพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตมากขึ้น

“ไม่ได้มองแค่ภาคการผลิตเท่านั้น เพราะผู้บริโภคเองก็กำลังได้รับผลกระทบเช่นกัน จากการจ้างงานที่อาจลดลง เศรษฐกิจกำลังเติบโตช้าลง จึงต้องหามาตรการในการประคองเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่การแจกเงิน เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคต เพราะความท้าทายทางการคลังกำลังเกิดขึ้นพอๆ กับความท้าทายทางการเงิน ซึ่งถือเป็นโจทย์สำคัญของทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” นายอมรเทพ กล่าว

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image