พิชัย เรียกถกหน่วยงานรัฐ-เอกชน สั่งการบ้านรับมือมะกันขึ้นภาษี 36% คาด2-3สัปดาห์ได้รายละเอียดเจรจา

พิชัย เรียกถกหน่วยงานรัฐ-เอกชน สั่งการบ้านรับมือมะกันขึ้นภาษี 36% คาด 2-3 สัปดาห์ได้รายละเอียดเจรจา ชี้หากไร้แผนรองรับกระทบจดีพี 1%

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ที่กระทรวงการคลัง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมเพื่อรับมือนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จากกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศมาตรการภาษีไทยเป็น 36% เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา ว่า ทางรัฐบาลพร้อมด้วยภาคเอกชน ได้ร่วมกันหารือแผนการรับมือจากการนโยบายการขึ้นภาษี ซึ่งการประกาศขึ้นภาษีในครั้งนี้มองว่าสหรัฐส่งสัญญาณให้ประเทศต่างๆ มีการนำเข้ามากขึ้น เพื่อลดการเสียเปรียบทางการค้าของสหรัฐ ทั้งนี้ประเมินเบื้องต้นหากไม่มีมาตรการหรือแผนรองรับเลย การขึ้นภาษีของสหรัฐ อาจจะส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปี 2568 ลดลง 1% เพราะฉะนั้น ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน จึงเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เพื่ออย่างน้อย ไม่ให้มีผลกระทบต่อจีดีพี

นายพิชัยกล่าวว่า สำหรับกรณีประเทศไทยปัจจุบันได้เปรียบดุลทางจากค้ากับสหรัฐราว 70% เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะเข้าไปดู คือการทำให้สัดส่วนการได้เปรียบดุลการค้าไทยลดลง ส่วนแรกคือการนำเข้ามากขึ้น ซึ่งมองไปที่การนำเข้าเพื่อบริโภคเพื่อทดแทนการนำเข้าจากประเทศอื่น และการนำเข้าวัตถุเพื่อการผลิตและการส่งออก โดยที่ประเทศไทยก็ยังคงรักษาการส่งออกไว้ได้ โดยสินค้าที่จะมีการพิจารณาเพื่อนำเข้าจากสหรัฐมากขึ้น อาทิ ข้าวโพด ปลาทูน่า ซึ่งไทยมีการแปรรูปสินค้าเหล่านี้เพื่อส่งออกจำนวนมากอยู่แล้ว

นายพิชัยกล่าวว่า ขณะที่ในเรื่องการส่งออกนั้น จะมีการทำมาตรการออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้ามากขึ้น เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการผลิตจากในประเทศไทยจริง เพราะที่ผ่านมาบางสินค้าไม่สามารถรับรองว่าผลิตจากไทยก็ถูกเรียกเก็บภาษีมากขึ้นเช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ แผงโซล่าเซลล์ เป็นต้น

ADVERTISMENT

นายพิชัยกล่าวว่า รวมทั้งการจะมีการทบทวนภาษีและมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barriers) ซึ่งเดิมไทยมีการออกมาตรการเหล่านี้ มากีดกันบางสินค้าเพื่อไม่ให้กระทบกับการผลิตในประเทศ เช่นกรณี รถมอเตอร์ไซค์ ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน ตั้งภาษีสูงถึง 60-80% จนทำให้สหรัฐไม่ได้ส่งออกรถฮาร์ลีย์มาไทยแล้ว เพราะฉะนั้น ไทยก็ไม่จำเป็นต้องตั้งภาษีสูงอีกต่อไป เพราะกำแพงภาษีเหล่านี้อาจจะทำให้สหรัฐกังวลเรื่องภาษีของไทย ทั้งนี้ได้มอบการบ้านให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องไปแล้ว โดยคาดว่าจะมีรายละเอียดพร้อมไปเจรจากับรัฐบาลของสหรัฐได้ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้

“แผนรับมือในครั้งนี้ เราจะมุ่งไปที่การรักษาสมดุลสัดส่วนของการขาดดุลสหรัฐ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการลดการส่งออก แต่เป็นการนำเข้าเพิ่มขึ้น ไปพร้อมๆกับยังคงสนับสนุน และเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของไทย เนื่องจากการส่งออกยังเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างมาก ทั้งนี้การที่เรานำเข้า พร้อมกับส่งออกมากขึ้นได้มากขึ้นด้วย จะช่วยลดช่องว่างการขาดดุลให้แคบลงได้ ถือเป็นวิน-วิน โซลูชั่น และยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องยาก แต่เราจะต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสรวมทั้งเรายินดีที่จะปรับสมดุล และสร้างความสัมพันธ์เป็นคู่ค้าที่ดีกับสหรัฐ รวมทั้งประเทศอื่นๆ”นายพิชัย กล่าว

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image