เงินเฟ้อไทยไตรมาสแรก1.08 % หลุดคาดทิศทางขาลงต่อน้ำมัน-ภาษีทรัมป์กดดัน พณ.เล็งปรับลดตัวเลขปี’68

เงินเฟ้อไทยไตรมาสแรก 1.08 % หลุดคาด ทิศทางขาลงต่อ น้ำมัน-ภาษีทรัมป์ กดดัน พณ.เล็งปรับลดตัวเลขปี’68

เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนมีนาคม 2568 เท่ากับ 100.35 เทียบกับเดือนมีนาคม 2567 สูงขึ้น 0.84 % ปัจจัยหลักจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เนื้อสัตว์ และอาหารสำเร็จรูป ประกอบกับมีการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล และค่าเช่าบ้าน เป็นสำคัญ ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก จากสินค้า 464 รายการ ที่นำมาคำนวณเงินเฟ้อ มี 289 รายการราคาสูงขึ้น อีก 54 รายการราคาไม่เปลี่ยนแปลง และ 212 รายการราคาลดลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 0.86 % เป็นการชะลอตัวลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2568 สูงขึ้น 0.99 % ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ยไตรมาสแรกสูงขึ้น 1.08% ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์ไว้เล็กน้อย จากที่คาดไว้ 1.13 %

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 2/ 2568 คาดลดลงจากไตรมาสแรก ปัจจัยจาก 1. ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง 2.) ฐานราคาผักสดและไข่ไก่ในปีก่อนอยู่ในระดับสูง แต่ปีนี้ สภาพอากาศเอื้ออำนวยมากกว่าทำให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบมากขึ้น 3. การลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกต่ำกว่าปีก่อน ส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน และ 4.การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

ADVERTISMENT

 

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่อาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น ได้แก่ 1.วัตถุดิบต้นน้ำของสินค้าเกษตรบางชนิดราคายังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะพืชสวน เช่น มะพร้าว กาแฟ และปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น ทั้งกะทิ กาแฟ และน้ำมันพืช และ 2. อาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะอาหารพร้อมทาน ราคายังอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีการปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบบางชนิดที่สูงขึ้น

ADVERTISMENT

“ จากปัจจัยน้ำมันที่มีทิศทางลดลง และผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ ที่อาจมีผลต่อเงินเฟ้อไทยบางเรื่อง สนค. จึงอยู่ระหว่างวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่แยกเป็น 2 ส่วน คือ ผลกระทบจากกลุ่มสินค้า และ กลุ่มบริการ เบื้องต้นที่น่าจดลดลง คือ ราคาน้ำมัน และผลการเจรจานำเข้าสินค้าบางชนิดจากสหรัฐที่เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลือง เป็นต้น ส่วนภาคบริการ ที่มีต้นทุนค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าการศึกษา และค่าบริการภาคเอกชน เชื่อว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีแนวโน้มที่เงินเฟ้อทั้งปีน่าจะต่ำที่คาดการณ์ไว้ 1-3 % ซึ่งจะมีการทบทวนตัวเลขในเดือนเมษายนนี้ ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 2 ปีนี้ กรอบอยู่ที่ 0.1-0.2 %ค่ากลาง 0.14% ชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก และชะลอต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งยังไม่เป็นทิศทางเงินเข้าภาวะเงินฝืด ด้วยเงินเฟ้อยังเป็นบวก ไม่ใช่เป็นการติดลบต่อเนื่อง “

นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับทิศทางส่งออกในเดือนเมษายน กำลังติดตามความชัดเจนเรื่องภาษีนำเข้าที่สหรัฐประกาศใหม่ ที่จะมีผลในวันที่ 9 เมษายนนั้น มีหลายด้านต้องติดตาม เช่น สินค้าที่อยู่ระหว่างการเดินทาง ส่งมอบ จะเริ่มอัตราใหม่หรือเดิม และเดือนเมษายนไทยมีวันหยุดต่อเนื่อง ต้องดูเรื่องการส่งมอบสินค้าด้วย เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image