ศูนย์วิจัยกสิกร ชี้ไทยสูญเม็ดเงินกว่า 4 แสนล้านบาทรับพิษทรัมป์ 2.0 แนะรัฐแก้ไขเกาถูกที่คัน
เมื่อวันที่ 4 เมษายน น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากกรณีสหรัฐปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศไทยในอัตราสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 9 เมษายนนี้ ถือว่าค่อนข้างกระชั้นชิด และไทยต้องเตรียมรับมือกับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จากอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐที่จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การส่งออกปี 2568 จะหดตัว 0.5% จากเดิมที่มองไว้ 2.5% ส่วนจีดีพีไทย ได้รับผลกระทบประมาณ 1% ทำให้ประมาณการใหม่อยู่ที่ 1.4% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 2.4% ซึ่งการประเมินดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลของการเจรจากับสหรัฐ โดยจากการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพราะในครึ่งปีแรกยังสามารถเติบโตได้ แต่ครึ่งปีหลังน่ากังวลอยู่บ้าง
น.ส.ณัฐพร กล่าวว่า การแก้ไขของรัฐบาลต้องเกาให้ถูกที่คัน ควรใช้นโยบายให้ตรงจุด มีการเจรจาระหว่างไทยและสหรัฐ สร้างความเชื่อมั่น และความชัดเจนในไทม์ไลน์การเจรจาและผลหลังจากนั้น โดยนโยบายด้านการคลังเข้ามาเสริมในการช่วยดูแลผลกระทบและเยียวยาภาคธุรกิจของไทย ที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรง อาทิ การปลดพนักงาน ต้องมีมาตรการดูแลชั่วคราว แต่ด้วยทรัพยากรที่มีจำกัดก็ต้องหาทางจัดสรรให้ได้ ส่วนนโยบายการเงินก็ผ่อนคลายลงมาอีกระดับได้ โดยมองว่าประเทศไทยยังมีกระสุนเหลืออยู่ในการรับมือ เพราะหนี้ครัวเรือนที่อยู่สูงแต่ยังไม่ถึงเพดาน จึงยังมีช่องว่างให้สามารถดำเนินการได้ แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะใช้เยียวยาผลกระทบในระยะสั้นหรือระยะยาว ทั้งนี้ คาดว่าหากมีการปรับลดดอกเบี้ยลงในเดือนเมษายนนี้ และครึ่งหลังอีก 1 ครั้ง มองว่าภาคส่วนที่ได้รับประโยชน์จะเป็นเอกชน ส่วนประชาชนมีดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาการกู้ยืมหรือสินเชื่ออยู่แล้ว
น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทย ประเมินที่ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4 แสนล้านบาทในปี 2568 โดยตัวเลขดังกล่าว อาจปรับเปลี่ยนได้ ขึ้นอยู่กับผลการเจรจาของภาครัฐหลังจากนี้ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รถยนต์และชิ้นส่วน เกษตร และอาหาร เป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อประกอบภาพกับกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอลงเพิ่มเติมหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ (MPI) เสี่ยงจะหดตัวลงกว่าเดิม หรือติดลบ 3.4% ในปี 2568 เดิมคาดที่ติดลบ 1.0% บวกกับแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวก็ลดน้อยลง โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว จึงปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2568 ลงมาที่ 35.9 ล้านคน จากเดิมคาด 37.5 ล้านคน
น.ส.เกวลิน กล่าวว่า สถานการณ์ที่ไม่นิ่ง มีผลต่อการตัดสินใจชะลอการลงทุนทั้งในระยะสั้นถึงกลาง โดยอุตสาหกรรมที่ไทยยังได้เม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ เป็นการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดอาเซียน หนีไม่พ้นกลุ่มที่เข้ามาในไทยอยู่แล้ว ประสิทธิภาพในการผลิตและการดำเนินธุรกิจของไทยแข่งขันได้มากน้อยเท่าใดในช่วงของการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่เราต้องรื้อเชิงโครงสร้างการประกอบธุรกิจ ยกระดับต้นทุนการผลิต เพราะประเมินแล้วมองว่าอุตสาหกรรมของไทยอาจยังไม่เอื้อในการดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ทิศทางค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนเป็นรอบ กรอบที่ระดับ 33-34.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เพราะมองจากเจตนาของโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ต้องการให้ใช้ค่าเงินเป็นแต้มต่อในการเจรจา แต่ต้องการให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่ามากกว่า ส่งผลต่อราคาทองคำที่ยิ่งขยับราคาขึ้น ค่าเงินบาทจะยิ่งแข็งค่าขึ้น มีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่มีแนวโน้มชะลอตัวและถดถอยลง ทำให้การลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่อาจลดดอกเบี้ยไม่ไปตามคาด