พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อรับมือภัยแล้งและปริมาณน้ำต้นทุนของไทยมีน้อย จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งดำเนินโครงการผันน้ำโขงที่โครงการห้วยหลวง ซึ่งโครงการดังกล่าวมีอายุ 4 ปี แบ่งโครงการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกสามารถดำเนินการได้เลย ภายใต้งบประมาณปกติปี 2559 วงเงิน 200 ล้านบาท ส่วนระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.)เพื่อบรรจุเข้าแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศอีกครั้ง
“การดำเนินโครงการผันน้ำโขงที่โครงการห้วยหลวง ในระยะแรกจะต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อนำน้ำเข้ามาเก็บไว้ใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยเติมน้ำได้ประมาณ 47 ล้านลูกบาศ์กเมตร (ลบ.ม.) เพื่อเพิ่มน้ำให้ภาคอีสานในช่วงแล้งที่จะมาถึงได้ทันที”พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ในอีกประมาณ 2 สัปดาห์ จะเสนอของบกลางวงเงินประมาณ 1,638.3 ล้านบาท จากคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อเร่งขุดคลองใหม่จำนวน 160 คลอง โดยสั่งให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในหน้าแล้ง คือให้เสร็จก่อนเมษายนนี้ เพื่อให้ระบบการส่งน้ำระบายน้ำสามารถทำได้มีประสิทธิภาพ โดยคลองที่จะขุดใหม่เป็นคลองไส้ไก่ อยู่นอกเขตชลประทาน แต่การดำเนินการขุดคลองใหม่จะสามารถทำได้ทั้งหมด 160 ลำคลองหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาของกรมชลประทานและชาวบ้านที่คลองจะตัดผ่านที่ดิน โดยหากชาวบ้านยินยอมก็สามารถดำเนินการได้ทันที
นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการห้วยหลวงเป็นโครงกาคที่มีอยู่แล้ว ซึ่งกรมชลฯได้ศึกษาเพื่อพัฒนาการและดึงน้ำจากที่เอ่อจากฝั่งโขงเข้ามาเก็บไว้ในฝั่งไทยเพื่อเป็นน้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งทำการเกษตร คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรใน จังหวัดภาคอีสานได้ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินเพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าวประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท สามารถเพิ่มความจุจาก 150 ล้านลบ.ม. เป็น 270 ล้านลบ.ม. ครอบคลุมพื้นที่เกษตรอีก 1.5-1.6 ล้านลบ.ม. และโครงการดังกล่าว จะช่วยลดผลกระทบทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง เป็นโครงการเร่งด่วนที่จะครอบคุม 5 จังหวัดภาคอีสาน คือ จังหวัดหนองคาย อุดรธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์และ ขอนแก่น