ผู้ส่งออก ไขข้อสงสัย สหรัฐเก็บภาษีนำเข้าไทย 36% เปิดไส้รายละเอียด
เมื่อวันที่ 4 เมษายน แหล่งข่าวจากผู้ส่งออก อธิบายกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ โชว์ Chart ในการแถลงประกาศเพดานภาษีนำเข้าที่สหรัฐจะจัดเก็บจากประเทศคู่ค้า เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งใน Chart อัตราภาษีที่นายทรัมป์ ถือเอกสารตอนแถลงข่าว เพดานภาษีนำเข้าที่จะเก็บจากสินค้านำเข้าจากประเทศไทย อยู่ที่ 36% แต่ในเอกสารภาคผนวกคำสั่งฝ่ายบริหารอยู่ที่ 37% ดังนั้นทุกฝ่ายจึงยึดตามเอกสาร แต่เมื่อเช้าของวันถัดมา 3 เมษายน สหรัฐปรับให้ตรงกันและเลือกปรับในภาคผนวกแนบท้าย EO กำหนดภาษีนำเข้าต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) ให้เป็นเพดานภาษีที่จะเก็บ 36% ตาม Chart จึงต้องยึดตัวเลข 36% สำหรับประเทศไทย
ทั้งนี้ วันที่ 2 เมษายน ประธานาธิบดีทรัมป์ ลงนามประกาศคำสั่ง EO กำหนดภาษีนำเข้าต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) โดยอาศัยอำนาจภายใต้กฎหมาย International Emergency Economic Powers Act of 1977 (IEEPA) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. Baseline Tariff: จัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการจากทุกประเทศในอัตราร้อยละ 10 โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เมษายน 2568
2. Individualized Reciprocal Higher Tariff: จัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการเป็นรายประเทศ สำหรับประเทศที่สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าด้วยสูง โดยไทยถูกกำหนดภาษีในอัตราร้อยละ 36 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน 2568
3. สินค้าที่ไม่ได้อยู่ภายใต้มาตรการ Reciprocal Tariffs นี้ ได้แก่ 1. สินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรา 232 อยู่แล้ว ได้แก่ เหล็ก/อลูมิเนียมและรถยนต์/ชิ้นส่วนรถยนต์ 2. สินค้าที่ระบุไว้ในเอกสาร Annex II ของ EO ครอบคลุมทองแดง ผลิตภัณฑ์ยา เซมิคอนดักเตอร์ ไม้แปรรูป แร่ที่มีความสำคัญ และพลังงาน และ 3.สินค้าอื่น ๆ ที่อาจถูกกำหนดให้อยู่ภายใต้มาตรา 232 ในอนาคต
4. USMCA – อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโก (ร้อยละ 25 สำหรับสินค้าทุกรายการ/ร้อยละ 10 สำหรับพลังงานและ โพแทช) จะยังคงเป็นไปตามคำสั่ง EO เรื่องปัญหาผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย/ยาเฟนทานิล โดยสินค้าที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขและเกณฑ์ข้อกำหนดที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ความตกลง USMCA จะไม่ถูกจัดเก็บภาษีนำเข้า ทั้งนี้ ในกรณีที่คำสั่ง EO ดังกล่าวถูกยกเลิก สินค้าที่ไม่เข้าข่ายเงื่อนไขและเกณฑ์ข้อกำหนดตามความตกลง USMCA จะถูกจัดเก็บภาษีต่างตอบแทนในอัตราร้อยละ 12
5. Duty-free de minimis: สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 800 เหรียญสหรัฐฯ จะยังได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามข้อกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ (duty-free de minimis treatment) ต่อไป
ทั้งนี้ การปรับแก้การบังคับใช้มาตรการภายใต้คำสั่งนี้
1. กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ผู้ช่วยปธน.ด้านนโยบายเศรษฐกิจ ด้านความมั่นคงแห่งชาติ และที่ปรึกษาอาวุโสด้านการค้าและการผลิต จะต้องเสนอแนะแนวทางในการใช้มาตรการเพิ่มเติม หากการบังคับใช้มาตรการนี้ ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้ารวม แม้ได้มีการขยายขอบเขตการใช้มาตรการกำหนดอัตราภาษีต่างตอบแทนจากคู่ค้าทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลต่อผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติสหรัฐฯ
2. หากประเทศคู่ค้าใดใช้มาตรการตอบโต้ (Retaliate) สหรัฐฯ โดยการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ รวมถึงการใช้มาตรการอื่น ๆ ปธน. อาจพิจารณาเพิ่มหรือขยายขอบเขตการจัดเก็บภาษีภายใต้คำสั่งนี้ เพื่อให้การดำเนินมาตรการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3. หากประเทศคู่ค้าใดดำเนินการอย่างมีนัยสำคัญ (Take significant steps to remedy) เพื่อแก้ไขและเยียวยาการค้าที่ไม่เป็นการต่างตอบแทน รวมถึงให้สอดคล้องกับแนวทางของสหรัฐฯ ในด้านการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ ปธน. อาจพิจารณาปรับลด (Decrease) หรือจำกัด (Limit) ขอบเขตภาษีที่จัดเก็บภายใต้คำสั่งนี้
4. หากศักยภาพในด้านกำลังการผลิต รวมถึงผลผลิตของสหรัฐฯ ยังคงแย่ลง (Worsen) ปธน. อาจพิจารณาเพิ่มอัตราภาษีภายใต้คำสั่งนี้