ผู้ส่งออก หวั่นออเดอร์ใหม่ชะลอตัว ผู้นำเข้าจ่อเปิดเจรจากดราคา-ให้เอี่ยวร่วมแบกต้นทุน

ผู้ส่งออก หวั่นออเดอร์ใหม่ชะลอตัว ผู้นำเข้าจ่อเปิดเจรจากดราคา-ให้เอี่ยวร่วมแบกต้นทุน

 

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภายหลังสหรัฐฯประกาศอัตราภาษีนำเข้าที่จะจัดเก็บกับประเทศคู่ค้า โดยประเทศไทยจะถูกเรียกเก็บในอัตราสูงสุด 36% นั้น ผลกระทบแรกที่จะเกิดขึ้นทันที คือ สินค้าที่อยู่ระหว่างเดินทาง ซึ่งสินค้าหากเดินทางไปถึงหลังวันที่ 9 เมษายน 2568 อาจจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราใหม่ หากเป็นกรณีที่ลูกค้าจ่ายเงินก่อนแล้ว อาจเจรจาได้ง่ายหน่อย แต่ถ้าเป็นสินค้าที่มีเครดิตลูกค้ายังไม่ชำระเงินก่อน คงเจรจายากขึ้นอีก ซึ่งปกติเครดิตลูกค้าสหรัฐค่อนข้างนานสูงสุดถึง 90 วัน ตรงนี้อันตรายมากสำหรับผู้ประกอบการไทยและการส่งออกจากนี้ และมีโอกาสถูกชะลอการส่งมอบเพื่อรอดูสถานการณ์ สำหรับคำสั่งซื้อหรือส่งมอบในล็อตถัดไป อีกประเด็นต้องจับตาคือ หากสินค้านำเข้านั้นราคาสูงขึ้นจากภาษีนำเข้า จนขายได้ลดลงหรือเกิดขาดทุนอาจเป็นตัวเร่งก่อปัญหาเบี้ยวการชำระหนี้ได้

“เชื่อว่าสัญญาณการต่อรองเรื่องราคา จะเริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งรูปแบบที่นำมาต่อรอง มีทั้งผู้ส่งออกกับผู้นำเข้าต้องหารือส่วนต่างภาษีที่เพิ่มขึ้น จะช่วยแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอาจแบ่งกันรับผิดชอบ หรือ ผู้นำเข้าเจรจาของลดราคาสินค้าตั้งแต่ต้นทาง เพื่อที่ผู้นำเข้าจะได้ไม่ต้องปรับราคาในประเทศหรือปรับให้น้อยที่สุดเพื่อไม่กระทบต่อยอดจำหน่ายในประเทศ หากเป็นลูกค้าดั้งเดิมปัญหาน่าจะจบได้ง่ายได้ไว แต่หากเป็นลูกค้ารายใหม่หรือการสั่งซื้อไม่ได้ต่อเนื่องประจำ ผู้ส่งออกอาจเจรจาได้ยากขึ้น อาจต้องยอมแบกรับต้นทุนบางส่วนหรือลดราคาเป็นการจูงใจ ในระยะต่อไปหลังจากนี้ไม่เกิน 30 วันหรือในเดือนพฤษภาคม จะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนจากคำสั่งซื้อล่วงหน้าถัดไป เพื่อส่งมอบตั้งแต่มิถุนายนเป็นต้นไป ” นายวิศิษฐ์ กล่าว

ADVERTISMENT

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า กรณีที่รัฐบาลเตรียมทีมไปเจรจากับสหรัฐฯ ที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้เตรียมข้อมูลไว้แล้ว แต่ไม่คิดว่าอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐที่ถูกเก็บจะสูงกว่าคาดการณ์ไว้ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาหาร ความต้องการทั่วโลกยังสูง รวมถึงในสหรัฐฯ ผลกระทบอาจไม่ได้มากเท่ากับกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มอื่นๆที่ต้องต่อรองและแข่งขันกันรุนแรงขึ้น ผลกระทบย่อมมากตามไปด้วย ซึ่งการเจรจากับสหรัฐ ก็ต้องเป็นทีมที่เชี่ยวชาญ ส่วนตัวมองว่าเมื่อสหรัฐประกาศออกมาอย่างนี้แล้ว น่าจะทำอะไรไม่ได้มากกว่าวันนี้ ซึ่งการเจรจาก็ต้องรอคิวเหมือนกันทุกประเทศ เวลาอาจไม่ใช่เร็วๆนี้ด้วยซ้ำ ดังนั้น เห็นด้วยที่รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการช่วยเหลือภาคส่งออก พร้อมกับเร่งหาตลาดใหม่ๆ

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มอาหารแห่งอนาคต ไทยมีการส่งออกไปทั่วโลก 1.6 แสนล้านบาท ขยายตัวปีละ 8-10% เฉลี่ยเดือนละ 1.4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ส่งออกไปสหรัฐ สัดส่วน 18 % หรือมูลค่า 2-3 หมื่นล้านบาทต่อปี เฉลี่ยเกือบ 3 พันล้านบาทต่อเดือน ก็กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบอัตราภาษีนำเข้าแท้จริงและรายละเอียดเชิงต่อรอง รวมถึงระยะเวลาส่งมอบ เบื้องต้นคาดหวังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หากกระทบก็อาจโตเพียง5% ซึ่งประเทศคู่แข่งส่งออกอาหารเพื่ออนาคต ที่สำคัญ คือ สหรัฐ ยุโรป จีน เวียดนาม ส่วนตลาดส่งออกหลักของไทย อยู่ที่อาเซียน 50% จีน 20% และ ยุโรป 10% โดยยังหวังว่าการแสดงสินค้า “THAIFEX – ANUGA ASIA 2025” หรืองานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำของเอเชีย วันที่ 27 – 31 พฤษภาคมนี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี นั้น จะมีผู้นำเข้ามาสั่งซื้อสินค้าคึกคัก เป็นการวัดผลหลังทรัมป์ปรับเพดานภาษีนำเข้าด้วย

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image