ผ่าวิบากกรรม ‘เศรษฐกิจไทย’ ใต้ซากตึกถล่ม-พิษภาษีทรัมป์

ภาษีทรัมป์

จับสัญญาณชีพ “เศรษฐกิจไทยปี 2568” ดูเหมือนจะผิดคาดไปบ้างจากปัจจัยใหม่ที่เข้ามาสร้างแรงกระเพื่อมอย่างไม่ทันตั้งตัว กับ “เหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ตามมาด้วยภาพจำ “ตึก สตง.ถล่ม” ที่เขย่าความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยให้ลดน้อยถอยลงไปอีก

ในเวลาไล่เลี่ยกันยังต้องเผชิญสึนามิกำแพง “ภาษีทรัมป์” ที่ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย สร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยให้เกิดภาวะถดถอยมากยิ่งขึ้น

⦁ทุบอุตสาหกรรม-จีดีพีร่วงแรง

สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทย เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังเรียกประชุมด่วนทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐ หลัง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศนโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ ซึ่งไทยถูกเรียกเก็บสูงถึง 36% มากกว่าที่ภาครัฐและเอกชนคาดการณ์ไว้เกือบ 3 เท่าตัว คาดว่ามีมูลค่าเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าวราว 8-9 แสนล้านบาท

ADVERTISMENT

เช่นเดียวกับ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและขุนคลัง ออกมาระบุว่า สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูงหลังสหรัฐประกาศขึ้นภาษี กระทบต่อทุกภาคส่วนและอาจเรียกว่าเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลก โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงจีดีพีของไทยอย่างน้อย 1% แต่หากไทยสามารถสร้างสมดุลทางการค้ากับสหรัฐได้จะช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้

“ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐให้มากขึ้น เพื่อแสดงความตั้งใจของไทยในการปรับสมดุลทางการค้ากับสหรัฐ และรักษาความสัมพันธ์ในฐานะคู่ค้า ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จใน 2-3 สัปดาห์นี้ ก่อนที่คณะผู้แทนไทยจะเดินทางไปเจรจากับสหรัฐ” ขุนคลังส่งสัญญาณในวันที่ทรัมป์ประกาศภาษีตอบโต้

ADVERTISMENT

⦁‘อิ๊งค์’เคาะแผนเจรจาสหรัฐ8เม.ย.

ล่าสุด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมประชุมคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐวันที่ 8 เมษายนนี้ เพื่อติดตามการดำเนินงาน โดยคณะทำงานตั้งขึ้นมาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ประกอบด้วย นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นายฉันทานน์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร น.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ น.ส.ใจไทย อุปการนิติเกษตร รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ นางขวัญนภา ผิวนิล นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ และนายโอม บัวเขียว คณะทำงานประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกันได้ออกแถลงการณ์ย้ำท่าทีของไทย ขณะนี้รัฐบาลได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เช่น เพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐด้านพลังงาน อากาศยาน สินค้าเกษตร โดยไทยมีแผนสร้างความร่วมมือกับภาคเกษตร อุตสาหกรรมและกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนได้เสียสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐ ซึ่งมีรายละเอียดในนโยบายอีกมาก

นอกจากนี้ไทยจะเจรจาการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐและลดเงื่อนไขการนำเข้าที่เป็นอุปสรรครวมไปถึงปราบปรามการสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐ และวันที่ 8 เมษายนนี้ หลังประชุมกับคณะกรรมการและทุกหน่วยงาน จะสรุปแนวทางเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นสำคัญ เพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง แข็งแรง และเท่าทันโลก

⦁‘นักวิชาการ’ส่งสัญญาณQ2ซ้ำหนัก

อย่างไรก็ดีจาก 2 แรงกระเพื่อมที่ดาหน้ามาพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ปฏิเสธไม่ได้ว่าสร้างความกังวลต่อหลายภาคส่วน รวมถึงภาคเอกชนไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอาจจะได้รับแรงกระแทกหนักกว่าไตรมาสแรก จึงอยากให้รัฐบาลเร่งอัดมาตรการด้านการเงินและการคลังออกมากระตุ้นโดยเร็ว พร้อมจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 30 เมษายนนี้ น่าจะมีการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีกครั้ง

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ประเมินว่า แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2568 หากมองในแง่ร้าย การส่งออกจะติดลบได้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 นี้ ที่จะมองเห็นความชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่คาดว่าทั้งปีนี้จะบวกได้ประมาณ 1-2% แต่กลับกันเป็นการติดลบ 1-2% ได้ ไม่แตกต่างจากจีดีพีไทย ที่จะได้รับผลกระทบทำให้จีดีพีปรับลดลง ซึ่งหากทำดีๆ ก็อาจไม่ได้ติดลบอย่างที่กังวลมากนัก แต่หากรัฐบาลรับมือได้ไม่ดีมากพอ หมายถึงการเจรจาร่วมกับสหรัฐ เพื่อประเมินอัตราภาษีนำเข้าสินค้าลดลงไม่สำเร็จ อันนี้จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยให้วิกฤตมากกว่าเดิมแน่นอน

“รัฐบาลต้องเตรียมกระสุนในส่วนของงบประมาณส่วนหนึ่งไว้ เพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจรุนแรงมากกว่าเดิม แม้กระสุนเหล่านี้มีจำกัดเพราะงบประมาณของไทยมีจำกัด ทั้งยังเผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะสูงขึ้น การขาดดุลงบประมาณเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่า เราดำเนินมาตรการเยียวยาต่างๆ ไม่ได้ แต่ต้องใช้เงินอย่างจำกัดนี้ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น มองให้ครบทุกมิติในการออกมาตรการเพิ่มเติม ไม่ใช่ดำเนินมาตรการแบบเดิมๆ แต่ต้องการผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม” สมชายกล่าว

ยังขยายความเพิ่มว่า เมื่อเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มแย่ลงจากเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้การกระจายรายได้ลดน้อยลง จะส่งผลกระทบต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างแน่นอน โดยส่วนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยลดภาระของประชาชน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ รวมถึงรัฐบาลต้องหามาตรการรับมือกับหนี้ครัวเรือน ป้องกันไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นจนรุนแรงเกินรับมือไหว

“สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการแบบทันทีคือ เร่งต่อสู้กับสินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งจะเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน รวมถึงสินค้าจากประเทศอื่นๆ ด้วย โดยไทยมีกฎหมายต่อต้านการทุ่มตลาด และกำหนดมาตรฐานของสินค้าที่มีความสุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าต่างประเทศเข้ามาตีตลาดสินค้าไทย ช่วยโอบอุ้มผู้ประกอบการไทยไม่ให้ล้มลงจากสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้” สมชายระบุ

⦁‘อสังหาฯ’เจอโจทย์ยากซับซ้อน

ขณะที่มุมมองของเอกชน อิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร มองว่าภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะกำลังซื้อชะลอตัวมาตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2568 ซึ่งเหตุแผ่นดินไหวและกำแพงภาษีของทรัมป์ จะมาเร่งปฏิกิริยาให้ไตรมาส 2 ทำให้ทั้งเศรษฐกิจและตลาดอสังหาฯไม่สู้ดี ชะลอตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนอยากเห็นมาตรการรัฐที่ออกมามีความเข้มข้นมากขึ้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายการเงินและการคลัง ไม่ใช่เฉพาะภาคธุรกิจอสังหาฯเท่านั้น

“ยอมรับว่าเรื่องแผ่นดินไหวและภาษีของทรัมป์ เป็นโจทย์ท้าทายทั้งรัฐและเอกชนต้องปรับตัวอย่างรุนแรง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ โดยรัฐต้องหาตลาดใหม่ขยายการส่งออกเพิ่ม นอกเหนือจากสหรัฐ เพื่อลดความเสี่ยงและทำให้เกิดการถ่วงดุลการค้าสินค้าที่จะส่งออกไปสหรัฐ ไม่ใช่ตั้งรับด้วยการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเท่านั้น เพราะตอนนี้บริบทการค้าโลกเปลี่ยนไปแล้ว รวมถึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นเรื่องตึกถล่มว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร ต้องเร่งสื่อสารให้คนทั่วโลกได้ทราบ เพราะตอนนี้ตึกถล่มได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยที่ต่างชาติกล่าวถึงกันมากในขณะนี้” อิสระกล่าว

ในส่วนของอสังหาฯนั้น “อิสระ” ย้ำว่า จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเศรษฐกิจโลกและไทยปั่นป่วนจากนโยบายทรัมป์ ผู้ประกอบการอสังหาฯก็ต้องปรับตัว รับมือกำลังซื้อ ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ซึ่งมีแนวโน้มไตรมาส 2 จะเห็นการชะลอเปิดโครงการใหม่ เพื่อรอดูสถานการณ์และมาตรการรัฐที่จะออกมา ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้ผ่อนเกณฑ์ LTV เริ่มวันที่ 1 พฤษภาคม 2568-วันที่ 30 มิถุนายน 2569 ยังรอมาตรการลดค่าโอนและจำนอง คาดว่าจะออกมาพร้อมมาตรการ LTV รวมถึงมาตรการอื่นๆ ที่อยากให้พิจารณา เช่น บ้านดีมีดาวน์ ลดภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา เพื่อดึงคนมีกำลังซื้อสูงมาซื้อที่อยู่อาศัย สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจและตลาดอสังหาฯไม่ให้ทรุดตัวไปมากกว่านี้

⦁‘ผู้ผลิต’โอดสินค้าจีนทุ่มตลาดหนัก

ด้าน สมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ “ซัยโจเด็นกิ” สะท้อนว่า ผลกระทบภาษีสหรัฐต่อไทยมี 2 เด้งและเป็นอัตราที่สูง เด้งแรกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการจากทุกประเทศในอัตรา 10% ใช้แล้ววันที่ 5 เมษายน และเด้งที่ 2 เก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการเป็นรายประเทศ โดยไทยถูกกำหนดภาษีในอัตรา 36% มีผลวันที่ 9 เมษายนนี้ น่าจะส่งผลอย่างรุนแรงมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดเครื่องปรับอากาศ

เนื่องจากผู้ผลิตที่ส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตจากจีน เมื่อถูกเก็บภาษีสูงขึ้น จะทำให้สินค้าจีนที่เคยส่งออกไปสหรัฐ ถูกระบายมาขายในไทยแทน ไม่ว่าเครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสินค้าอื่นๆ ทำให้ผู้ผลิตไทยจะถูกสินค้าจีนทุ่มตลาดมากยิ่งขึ้น กระทบต่อผู้ผลิตในประเทศและอาจเห็นการปิดโรงงานและเลิกจ้างงานได้ในระยะถัดไป

“รัฐบาลต้องตั้งรับให้ดี เร่งเจรจาหาทางออก ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการประคับประคองและเลือกดำเนินการเฉพาะบางรายที่เป็นคนไทยจริงๆ ไม่ใช่มาตรการเหมาเข่ง เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยอยู่ได้ เช่น มาตรการภาษีต่างๆ แต่ถ้าหากรัฐบาลไม่ดำเนินการใดๆ จะทำให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในภาวะถดถอย สินค้าแพง เงินฝืด เหมือนกับสหรัฐก็ได้” สมศักดิ์กล่าว

สำหรับตลาดเครื่องปรับอากาศไทย “สมศักดิ์” กล่าวว่ามีการสูญเสียตลาดให้ทุนจีนมานานหลายปีแล้ว ทั้งแบรนด์เครื่องปรับอากาศจีนที่เข้ามาทำตลาดและสร้างโรงงานผลิตในไทย รวมถึงการรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น สายไฟ ทองแดง ล้วนเป็นของจีนและราคาก็ต่ำกว่าของไทยมาก กระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปิดกิจการไปจำนวนมากที่ผ่านมา

“เศรษฐกิจไทยเปราะบางมานานแล้ว เมื่อเจอทั้งแผ่นดินไหว ภาษีทรัมป์มองว่าเศรษฐกิจไตรมาส 2 จะเปราะบางมากขึ้น และจะแย่ไปถึงไตรมาส 3ถ้ารัฐบาลไม่มีมาตรการกระตุ้นแรงๆ ออกมา และผลเจรจาทรัมป์ไม่เป็นผลซึ่งบริษัทได้ปรับแผนชะลอออกสินค้าใหม่ รอประเมินสถานการณ์อีกครั้งเดือนพฤษภาคมนี้” สมศักดิ์กล่าว

ฝั่งโชห่วย สมชาย พรรัตนเจริญ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ย้ำว่า กำลังซื้อรากหญ้าไม่ดีต่อเนื่อง คาดไตรมาส 2 นี้จะลดลงกว่า 10-20% เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว คนไม่กล้ากิน กล้าใช้จ่าย ประกอบกับสินค้ามีราคาแพง จึงซื้อเท่าที่จำเป็น ไม่ซื้อในจำนวนที่มาก ขณะที่ร้านค้าเองถ้าบริหารจัดการดีๆ ก็ยังพอมีกำไรและประคองธุรกิจให้พออยู่ได้

⦁กูรูพาเหรดหั่นจีดีพีโตไม่ถึง2%

อย่างไรก็ตามจากเอฟเฟ็กต์หลากปัจจัยที่ “ฟาดหาง” เศรษฐกิจไทยทำให้กูรูเศรษฐกิจหลายสำนักหั่นจีดีพีไทยปี 2568 โดย ธนวรรธน์ พลวิชัยอธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่ามาตรการภาษีตอบโต้มีผลต่อเศรษฐกิจไทยถึง 359,104 ล้านบาท ฉุดจีดีพีลดลง 1.93% หากรวมเหตุแผ่นดินไหวจะสร้างความเสียหาย 374,851 ล้านบาท ฉุดจีดีพีไทยปีนี้ลดลง 2.02% ส่งผลให้จีดีพีไทยทั้งปีนี้ อาจปรับลดเหลือ 1% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 3%

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ระบุภาษีทรัมป์กระทบจีดีพีไทยมีโอกาสโตต่ำ 2% เพราะไทยส่งออกสินค้าเป็น 60% ของจีดีพี ส่งไปสหรัฐเกือบ 20% ของการส่งออกทั้งหมด รวมๆ เกิน 10% ของจีดีพีไทย ส่วนท่องเที่ยวน่าจะกระทบด้วยเพราะคนขาดความเชื่อมั่น ซึ่งนักท่องเที่ยวอาจลดลงที่ 37-38 ล้านคน จากเดิมคาดการณ์ที่ 39 ล้านคน และหากการเจรจากับสหรัฐยาก ภาษีเกิดขึ้นจริง การประชุม กนง.วันที่ 30 เมษายนนี้ น่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย

เช่นเดียวกับ พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เชื่อว่าภาษีทรัมป์มีผลกระทบไทยมาก มีโอกาสไทยเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ หากยังโดนภาษีสูงหรือเจรจาไม่ได้ การส่งออกหากยังรุนแรง เศรษฐกิจไทยที่ตั้งเป้าโตที่ 2.3% จะลดลงเหลือ 1% กว่าๆ ในบางไตรมาสอาจจะเสี่ยงเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้เมื่อรวมทั้งเหตุแผ่นดินไหวและผลกระทบภาษีสหรัฐ คาดว่า กนง.น่าจะปรับลดดอกเบี้ยปีนี้ 2 ครั้ง เป็น 1.50% ปีหน้าอีก 1 ครั้ง เป็น 1.25% และมีโอกาสดอกเบี้ยนโยบายจะลงต่ำกว่า 1.25% หากภาษีที่สูงยังอยู่อีกนาน

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินกรณีภาษีสหรัฐกระทบต่อมูลค่าภาคส่งออกของไทย 4 แสนล้านบาท ประเมินทั้งปีนี้จะหดตัว 0.5% จากเดิมที่ 2.5% ส่วนจีดีพีไทยกระทบประมาณ 1% ทำให้ประมาณการใหม่อยู่ที่ 1.4% ต่ำกว่าเดิมที่มองไว้ 2.4% ยังไม่ได้รวมผลของเจรจาสหรัฐ พร้อมทั้งปรับลดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยปีนี้เหลือ 35.9 ล้านคน จากเดิม37.5 ล้านคน

ส่วนศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ มองว่าจากภาษีตอบโต้ที่สหรัฐประกาศกับไทยที่ 36% จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยราว 1.35% จากที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% จะเหลือเพียง 1.45% โดยยังไม่นับรวมผลของมาตรการที่รัฐบาลจำเป็นต้องบังคับใช้เพื่อประโยชน์ต่อการเจรจาต่อรอง

เป็นปฏิกิริยาสะท้อนออกมา หลังประเทศไทยเผชิญ “วิกฤตซ้ำซ้อน-โจทย์ยากท้าทาย” ท่ามกลางบริบทเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน เศรษฐกิจไทยโตช้า คงต้องรอดูฝีมือ “รัฐบาลอิ๊งค์” จะงัดแผน ตั้งรับ เติมเกมรุก พาประเทศไทย ฝ่าวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างไร!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image