มาตรการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีของทรัมป์ 2.0 ทั้งมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) และมาตรการภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (Universal Tariffs) แผลงฤทธิ์รุนแรงทั่วโลกราว 60 ประเทศอาทิ จีน 34% อินเดีย 26% สหภาพยุโรป 20% สิงคโปร์ 10% เวียดนาม 46% กัมพูชา 49% และไทย 36% เป็นต้น ส่งผลกระทบกับเครื่องยนต์เศรษฐกิจภาคการส่งออกของประเทศไทยที่มีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับที่ 1 ของประเทศไทย ปี 2567 ด้วยสัดส่วนการส่งออกของไทยไปสหรัฐอยู่ที่ 18.3% มีมูลค่า 1.921 ล้านล้านบาท และมูลค่านำเข้าจากสหรัฐ 673,301 ล้านบาท
ขณะที่สัดส่วนการส่งออกของเอสเอ็มอีไทย (SMEs Direct Exporters) ไปสหรัฐ 14% และสัดส่วนการนำเข้าของเอสเอ็มอีไทย (SMEs Direct Importers) จากสหรัฐ 14% เช่นกัน แต่ไทยยังมีเอสเอ็มอีอีกมากที่เป็นซัพพลายเชนของผู้ส่งออกไทยไปสหรัฐ และปี 2567 กลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญ 5 ลำดับแรก ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักร อัญมณีและเครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์ และพลาสติก คิดเป็นสัดส่วนรวม 75 ของมูลค่าส่งออกของเอสเอ็มอีไทยไปสหรัฐ เอสเอ็มอีที่พึ่งพิงการส่งออกไปสหรัฐในระดับสูงหรือสหรัฐเป็นตลาดหลักเกินกว่า 10% มูลค่ากว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐนั้น จะกระทบกับเอสเอ็มอี 3,700 รายตามข้อมูลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) คาดส่งออกของเอสเอ็มอีไปสหรัฐ ปี 2568 ลดลง 38,300 ล้านบาท ส่งผลให้จีดีพีเอสเอ็มอีลดลง 0.2% จากที่ประมาณการขยายตัวไว้ที่ 3.5% ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองของรัฐบาลไทย รวมทั้งมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าอื่นๆ
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ให้ความเห็นถึงนโยบาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ต่อการปรับขึ้นเพดานภาษีนำเข้าประเทศคู่ค้าว่า การแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างปัญหาใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิมจะทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญความเสี่ยง ทั้งต้นทุนเพิ่ม ค่าครองชีพสูง เปลี่ยนมิตรเป็นศัตรู เสถียรภาพรัฐบาลและเศรษฐกิจโลกสั่นคลอน ในอนาคต ทุกประเทศตระหนักถึงความสำคัญของตลาดสหรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุด มีจีดีพีถึง 24% ของโลก หรือเกือบ 1 ใน 4 ของโลก และโครงสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจของสหรัฐใหญ่สุดคือ ภาคบริการ 80.2% ภาคอุตสาหกรรม 18.9% และภาคการเกษตร 0.9% แต่หากใช้มาตรการตอบโต้ตาต่อตาฟันต่อฟันจะลุกลามไปเป็นสงครามภูมิรัฐศาสตร์ได้
มาตรการที่ไทยควรพิจารณาดำเนินการ คือ
1.ปรับยุทธศาสตร์โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ของไทยสร้างความเข้มแข็ง การค้าการลงทุนระหว่างประเทศในการเป็น Creative Global Value Chain สนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการเข้าถึงมาตรฐานทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งปรับเปลี่ยนสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำและใช้ ESG ดำเนินธุรกิจ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพ ลดต้นทุนและเพิ่มผลิตภาพ ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่า เข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ ร่วมแสวงหาโอกาสทางการตลาดใหม่ สนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลสิทธิประโยชน์ โอกาสทางการค้า เอฟทีเอของผู้ประกอบการทุกขนาดที่ใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งการสร้างแบรนด์ให้กับประเทศไทยและสินค้า บริการของไทย
โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มเข้าสู่ “อุตสาหกรรมใหม่” เข้าถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม มาตรฐาน แหล่งทุน ตลาดใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่า การผลิตสารสกัด Flavor สมุนไพรธรรมชาติ การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตจากเปลือกข้าว การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นต้น
อีกทั้งอุตสาหกรรมที่เป็นโอกาสการตลาดเชิงรุก ส่งเสริมตลาดใหม่ BRICS RCEP ASEAN ยกระดับสินค้า GI กว่า 200 รายการ ทั้งอาหารแปรรูป ผัก ผลไม้ ข้าว ผ้าสิ่งทอ ครอบคลุมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซอฟต์พาวเวอร์ และ BCG รวมทั้ง S-Curve อาทิ “Thailand Well-being” อุตสาหกรรมการแพทย์ การแพทย์แผนไทย สุขภาพ ความงาม สปา สมุนไพร และความเป็นอยู่ที่ดี “Global Foods Warehouse” อุตสาหกรรมอาหาร นวัตกรรมอาหารและเครื่องดื่ม พืชเศรษฐกิจผักผลไม้ สินค้า GI สู่เศรษฐกิจใหม่ “Thailand Sustainability Tourism Hub” การท่องเที่ยวมูลค่าสูง ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง “Thailand Clean Energy” ยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานปรับโครงสร้างพลังงาน ลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการและประชาชนด้วยพลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว พลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานจากขยะ
2.ยุทธศาสตร์ยกเครื่องบริการภาครัฐ ด้วยการยกระดับเทคโนโลยี AI การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย การบริหารกิจการภาครัฐด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อมให้มีฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน พัฒนาเศรษฐกิจประเทศทุกมิติ เกิดการไหลคล่องตัว สะดวกรวดเร็วของกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจ ลดการทุจริต คอร์รัปชั่น และเพิ่มการเข้าถึงข่าวสาร มาตรการภาครัฐให้กับประชาชนและผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการสร้างกลไกร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพ และการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิผล นำช่องว่างมาทบทวน ปรับปรุงเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในประเทศจากทุนเทาในประเทศ-ต่างชาติ อาทิ สินค้าผิดกฎหมาย ไม่ได้มาตรฐาน ลักลอบหนีภาษี นอมินีดำเนินธุรกิจไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทยและเศรษฐกิจไทย เป็นต้น
3.มาตรการ “Thailand Friendship” มุ่งเป้าสร้างความสัมพันธ์เชิงลึกกับสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย ประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศคู่ค้าสำคัญและกลุ่มเป้าหมายเพื่อเพิ่มเครือข่ายพันธมิตรทางการค้า การลงทุนของไทย โดยกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ทีมรัฐ-เอกชนในการเจรจาส่งเสริมการลงทุน และเพิ่มเอฟทีเอรวมทั้งการเข้าถึงการใช้ประโยชน์เอฟทีเอของเอสเอ็มอี การเร่งระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาคให้เร็วยิ่งขึ้น เป็นพื้นที่กระจายการลงทุน การค้า เชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยทุกขนาดไปสู่ Global Value Chain
4.มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการไทย การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและภาคเอกชนไทยที่ต้องมุ่งเป้าในการสนับสนุนการใช้วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ บริการภายในประเทศสูงสุดเพื่อการกระจายรายได้ เปิดโอกาสตลาดให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรเพิ่มมากขึ้น ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งใช้ประโยชน์สนับสนุนแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์เฮาส์ไทย แอพพลิเคชั่นไทยส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยแพลตฟอร์มไทย การส่งเสริมอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มไทย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยี การใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของต่างชาติการส่งเสริมผลิตสินค้า ทดแทนนำเข้า ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มสัดส่วนการส่งออกของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย และสัดส่วนจีดีพีเอสเอ็มอี
การส่งเสริมเศรษฐกิจนอกระบบให้เข้าสู่เศรษฐกิจในระบบ เพื่อการพัฒนาและยกระดับผลิตภาพ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันให้กำลังคนในประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ในกลุ่มผู้ประกอบการนอกระบบ แรงงานนอกระบบ มีมาตรการจูงใจและเพิ่มโอกาสเข้าถึงการ Up skills-Re skills อาทิ Digital literacy Social media literacy และ AI literacy เป็นต้น สนับสนุนอุตสาหกรรมพึ่งพาภายในประเทศและส่งเสริม TDI (Thai Direct Investment) ตลาดในประเทศ การลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมทั้งการปรับโครงสร้างระบบภาษีของประเทศให้สอดคล้องกับทิศทางปัจจุบันและอนาคตเพื่อแข่งขันได้
มาตรการสร้างผู้ประกอบการไทย “Creative Influencers” ให้มีทักษะการค้าระหว่างประเทศ ความเชี่ยวชาญทางภาษา การประกอบธุรกิจด้วยข้อมูลเชิงลึกเพิ่มมากขึ้น มีความสามารถในการสร้าง Creative Content เพื่อเป็น “Creative Influencers” อาทิ นักรบรุ่นใหม่สู่เศรษฐกิจใหม่ที่เป็นบัณฑิตจบใหม่ หรือมีประสบการณ์มาบ้าง และผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านโดยภาครัฐจัดโปรแกรมส่งเสริมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
มาตรการส่งเสริมการใช้ประโยชน์กองทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน การปรับรูปแบบ ส่งเสริมรองรับการเปลี่ยนแปลง บริหารความเสี่ยง ลดผลกระทบจากสงครามการค้า กำแพงภาษีและไม่ใช่ภาษี โดยการบูรณาการกองทุนทางเศรษฐกิจต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ประกอบการ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบและเร่งการเปลี่ยนผ่านรองรับการเปลี่ยนแปลง สนับสนุนแหล่งทุนต้นทุนต่ำ อาทิ กองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กองทุนเอฟทีเอ กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น โดยใช้กลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ ภูมิภาค สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สวทช. วว. ในการ Scale up ผู้ประกอบการในทุกขนาด