SCB EIC ชี้สหรัฐขึ้นภาษีศุลกากร กระทบส่งออก-ลงทุนไทย หวั่นฉุดจีดีพี 68 ต่ำกว่า 2.4%

SCB EIC ชี้สหรัฐขึ้นภาษีศุลกากร กระทบส่งออก-ลงทุนไทย หวั่นฉุดจีดีพี 68 ต่ำกว่า 2.4%

นายยรรยง ไทยเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานวิจัยเศรษฐกิจและความยั่งยืน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) เปิดเผยว่า SCB EIC ได้ทำบทวิเคราะห์กรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ ภาพรวมจะมีผลทำให้อัตราภาษีนำเข้าที่แท้จริงของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากถึง 18 – 22% โดยทวีปเอเชียสูงถึง 21% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยโลก เนื่องจากสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับประเทศในทวีปเอเชียอยู่มาก

นายยรรยง กล่าวว่า ส่วนของไทยนั้นสหรัฐขึ้นภาษีในเกณฑ์สูงที่ 36% เนื่องจากติดอันดับ 20 จาก 185 ประเทศคู่ค้าทั่วโลก และสหรัฐฯ ประเมินว่าไทยมีการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐสูง รวมถึงไทยยังใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะสินค้าเกษตร นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังคำนึงถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการกีดกันการค้าในภาคบริการ สิทธิเสรีภาพของแรงงานอีกด้วย

นายยรรยง กล่าวว่า ฉะนั้น ไทยจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อม สำหรับผลกระทบทางตรง คือ การส่งออกไทยอาจจะลดลงเนื่องสหรัฐฯ หันไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่งที่ขายราคาถูกและมีภาษีนำเข้าต่ำกว่าไทย และสหรัฐฯ อาจลดนำเข้าจากทุประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ด้วย ทั้งนี้ไทยพึ่งสหรัฐฯ สูงถึง 18% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ คอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง โทรศัพท์

ADVERTISMENT

นายยรรยง กล่าวว่า ส่วนผลกระทบทางอ้อม ส่งออกไทยกระจุกตัวในประเทศที่ถูกตั้งกำแพงภาษีสูง เนื่องจากประเทศคู่ค้า จีน อาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน ดังนั้นการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยกลุ่มนี้ หรือเกิดการแข่งขันในตลาดส่งออกโลกสูงขึ้น รวมทั้งบางประเทศคู่ค้าอาจหันไปนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ จึงอาจนำเข้าสินค้าไทยน้อยลง นอกจากนี้ ยังเกิดภาวะรอดูไปก่อน หรือ Wait & See ของการลงทุนในไทยจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีสหรัฐฯ โดยเฉพาะจีน

นายยรรยง กล่าวว่า ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ไทยและประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ทั่วโลกต้องเผชิญจะมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประกาศในวันที่ 2 เมษายน หากประเทศนั้น ๆ สามารถแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้ เช่น พยายามลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การประกาศสงครามการค้าของสหรัฐฯ ครั้งนี้จะเป็นความเสี่ยงด้านต่ำสำคัญของเศรษฐกิจไทย จะส่งผลกดดันให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ปรับลดลงจากประมาณการเดิมของ SCB EIC ที่ 2.4% อย่างมีนัยสำคัญ

ADVERTISMENT

นายยรรยง กล่าวว่า ฉะนั้น ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญเร่งเจรจาลดผลกระทบครั้งนี้ โดยอาจเน้นจาก 3 ประเด็นหลักของไทย ได้แก่ 1.ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ โดยนำเข้าสินค้าบางประเภทจากสหรัฐฯ มากขึ้น หรือ ลดอัตราภาษีนำเข้าบางสินค้าของสหรัฐ 2) ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น เกณฑ์ห้ามนำเข้าสินค้าบางชนิด เกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร 3) แก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และไทยเองก็ได้ประโยชน์ด้วย เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเสรีภาพของแรงงาน ตลอดจนการพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ

“SCB EIC จะติดตามแผนการรับมือของรัฐบาลไทย ท่าทีของสหรัฐฯ และมาตรการตอบสนองของประเทศต่าง ๆ หลังสหรัฐฯ ประกาศอิสรภาพจากความไม่เป็นธรรมทางการค้าครั้งใหญ่รอบนี้ เพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยละเอียดต่อไป” นายยรรยง กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image