ภารกิจกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ฝ่ากระแสยุบทิ้ง!!

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

รัฐบาลใช้เครื่องมือจากกองทุนน้ำมันฯ ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งเอทานอลและไบโอดีเซล เพื่อลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและใช้กลไกในการพยุงราคาพืชการเกษตร ประกอบด้วย อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์ม ซึ่งราคาตกต่ำมาตลอด ให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และเป็นการส่งเสริมเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันมีบางฝ่ายเรียกร้องให้ยุบกองทุนน้ำมัน ประเด็นนี้ วีระพล จิรประดิษฐกุล นักวิชาการอิสระ ให้ความเห็นว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันฯ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการตรึงราคาดีเซลและก๊าซ LPG ตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้กองทุนน้ำมันฯซึ่งเคยมีเงินสะสมถึง 38,000 ล้านบาท (ปลายปี 2562) กลับมาติดลบสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ถึง 1.3 แสนล้านบาทในช่วงกลางปี 2565 จนรัฐบาลต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 แสนล้านบาท และให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ (พฤศจิกายน 2565) หลังจากนั้นในปี 2567 เมื่อราคาน้ำมันดิบตลาดโลกได้อ่อนตัวลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อใช้หนี้ได้

ย้อนกลับไปช่วงการระบาดของโควิด-19 (ปี 2563-2564) รัฐบาลใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาดีเซลที่ 30 บาท/ลิตร และได้ลดราคา LPG จาก 363 บาท เป็น 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ซึ่งเดิมคาดว่าจะทำเพียง 3 เดือน แต่มีการต่ออายุครั้งละ 3 เดือนมาจนถึงต้นปี 2565

ADVERTISMENT

ปลายปี 2564 สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายลง ความต้องการใช้พลังงานเริ่มสูงขึ้น ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 75-80 ดอลลาร์/บาร์เรล รัฐบาลได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ตรึงราคาดีเซลและ LPG ต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน (ก.พ.2565) ราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวสูงขึ้นถึง 120 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำให้กองทุนต้องชดเชยราคาดีเซลสูงถึง 14 บาท/ลิตร เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2565 ส่งผลให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบอย่างรวดเร็วจากเดิมที่เคยเป็นบวก 25,800 ล้านบาท เมื่อเดือน ม.ค.2564 กลายเป็นติดลบ 37,592 ล้านบาทเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม 2565

การเข้าไปตรึงราคาน้ำมันและ LPG ในช่วงปี 2565 ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ติดลบสูงสุด ในเดือน พ.ย.2565 ตัวเลขพุ่งไปถึง -132,671 ล้านบาท (น้ำมัน -88,788 ล้านบาท, LPG -43,883 ล้านบาท) หลังจากนั้นต้นปี 2566 ราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวลงมาอยู่ในระดับ 75-80 ดอลลาร์/บาร์เรล ได้มีการทยอยปรับราคาดีเซลลง 7 ครั้งจากระดับ 35 บาท/ลิตร เหลือ 32 บาท/ลิตร ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ทยอยฟื้นตัวจากติดลบ 113,436 ล้านบาท (ม.ค.2566) เหลือ -49,173 ล้านบาท (ก.ค.2566)

ADVERTISMENT

แต่พอมีรัฐบาลใหม่ในช่วงเดือนกันยายน 2566 มีนโยบายตรึงดีเซลอยู่ที่ 30 บาท/ลิตร ทำให้กองทุนกลับมาติดลบอีกครั้งถึง -111,345 ล้านบาท (พ.ค.2567) ส่งผลให้ต้องปรับขึ้นราคาดีเซลเป็น 33 บาท/ลิตร ตั้งแต่ 7 สิงหาคม 2567 และคงตรึงราคา LPG ไว้ที่ 423 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม จนมาถึงปัจจุบัน ปี 2568 ราคาน้ำมันดิบ WTI ได้อ่อนตัวมาอยู่ที่ระดับ 70-75 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำให้ฐานะกองทุนดีขึ้นตามลำดับ จากติดลบ 99,087 ล้านบาท (29 กันยายน 2567) เหลือ -72,913 ล้านบาท (มกราคม 2568) และเหลือติดลบ 62,396 ล้านบาท (16 มีนาคม 2568)

วีระพลระบุว่า คำถามหากจะยุบกองทุนน้ำมันฯ ผู้ที่เสนอให้ยุบจะต้องตอบให้ได้ก่อนว่า จะมีมาตรการหรือเครื่องมืออะไร มาช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศ ในช่วงที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน และปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลไกส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันไบโอดีเซลจะทำอย่างไร หากสามารถตอบได้ก็สามารถยุบกองทุนน้ำมันได้เลย

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่ากองทุนน้ำมันฯ ยังมีความจำเป็น โดยใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในระยะสั้นๆ เพื่อให้ประชาชนมีเวลาในการปรับตัว แต่ผู้ใช้นโยบายจะต้องมีวินัยในการใช้เงิน ตามกรอบวงเงินที่กำหนดในกฎหมายฉบับใหม่ คือไม่เกิน 40,000 ล้านบาท เมื่อเงินกองทุนใกล้ถึงเพดานแล้ว ควรลดการชดเชยราคา ปล่อยให้เป็นไปตามกฎในตลาด

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ไม่อนุญาตให้ชดเชยเชื้อเพลิงชีวภาพ ยกเว้นในช่วงเปลี่ยนผ่าน (มาตรา 55)ซึ่งให้ดำเนินการต่อได้ 3 ปี และขยายได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี รวมสูงสุด 7 ปี แต่ผ่านมาแล้ว 5 ปี รัฐบาลยังไม่ได้ลดการชดเชย จึงเกิดคำถามว่าหลังครบ 7 ปี จะยังส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพหรือไม่และจะมีมาตรการลดต้นทุนแข่งขันกับ EV อย่างไร

วีระพลระบุด้วยว่า ทางเลือกการลดราคาน้ำมัน ระหว่างกองทุนหรือภาษีดีกว่ากันนั้น ต้องพิจารณาดังนี้

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การบริหารจัดการอยู่ที่กระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ และอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ การบริหารกองทุนน้ำมันฯ จึงทำได้ง่ายและรวดเร็ว สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

โดย พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 กำหนดวินัยในการใช้เงินกองทุนไว้เพดานสูงสุด ไม่เกิน 40,000 ล้านบาท สามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาท กองทุนน้ำมันฯ เมื่อติดลบก็จะกู้เงินมาใช้ และเมื่อราคาน้ำมันลดลง จะต้องเรียกเก็บเงินคืนกองทุนน้ำมันฯ ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศยังคงสูงกว่าราคาน้ำมันในตลาดโลก อาจทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ สุดท้ายแล้วผู้ใช้น้ำมันเป็นผู้จ่ายเงินเองทั้งหมด จะไม่กระทบต่อสภาพเศรษฐกิจส่วนรวม

ขณะที่ภาษีสรรพสามิต การบริหารจัดการอยู่ที่กระทรวงการคลัง การดำเนินการอาจล่าช้ากว่ากองทุนน้ำมันฯ บ้าง แต่การลดภาษีสรรพสามิตทำให้รัฐบาลเสียเงินไปเลย ไม่สามารถเรียกคืนแบบกองทุนน้ำมันฯได้ การลดลงของภาษีสรรพสามิตจะกระทบต่อรายได้ของรัฐโดยตรง หากรัฐบาลไม่สามารถหารายได้มาทดแทนได้ก็ต้องกู้เงิน ซึ่งจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และวินัยทางการคลังของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญด้านความเชื่อถือของประเทศได้

วีระพลทิ้งท้ายว่า การลดราคาน้ำมันไม่ว่าจะเป็นมาตรการอะไรก็ตาม ไม่ควรตรึงราคาไว้ในระยะยาว และไม่ควรตรึงราคาเชื้อเพลิงใดเชื้อเพลิงหนึ่งไว้นาน จนส่งสัญญาณที่ผิดให้ผู้บริโภคหันมาใช้มากขึ้นดังเช่นในอดีต การตรึงราคาก๊าซ LPG ไว้ในระดับต่ำระยะเวลานาน จนทำให้รถยนต์ปรับเครื่องยนต์มาใช้ LPG มาก การผลิตในประเทศไม่เพียงพอ จำเป็นต้องนำเข้าและเมื่อรัฐขึ้นราคา LPG ผู้ใช้ก็หันมาใช้น้ำมันเบนซินแทน ทำให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของ LPG ไม่ว่าจะเป็นคลัง LPG ปั๊ม LPG รวมทั้งท่าเรือนำเข้า LPG มีการใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ

เกิดความเสียเปล่าของประเทศ!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image