ผู้ประกอบการเหล็ก ชี้ 3 ปัจจัยตึก สตง.ถล่ม อาจออกแบบไม่ถูกต้อง แนะโฟกัส ‘คอนกรีต’ ด้วย

ผู้ประกอบการเหล็ก ชี้ปัจจัยตึก สตง.ถล่ม อาจมาจากการออกแบบที่ไม่ถูกต้อง

เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่โรงแรม คอนราด กรุงเทพมหานคร นายไนยวน ชิ ประธานกรรมการ บริษัท เอ็ม.ซี.เอส.สตีล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานแถลงข่าว “เหล็กโครงสร้างกับปัจจัยแผ่นดินไหวในประเทศไทย” ว่าจากกรณีที่การก่อสร้างตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา บริษัทได้มีการประเมินสาเหตุเบื้องต้น 3 ข้อ โดยเน้นเรื่องการออกแบบเป็นปัจจัยหลัก

นายไนยวนกล่าวว่า การก่อสร้างตึกจะใช้วัสดุอะไรก็ได้ แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่การออกแบบ โดย 3 ข้อหลักที่อาจจะเป็นสาเหตุทำให้การก่อสร้างตึก สตง แห่งใหม่ถล่มครั้งนี้คือ 1.การออกแบบโครงสร้างตึกไม่ถูกต้อง 2.การก่อสร้างไม่ตรงตามมาตรฐาน 3.ใช้วัสดุการก่อสร้างที่คุณภาพไม่ค่อยดี

ADVERTISMENT

นายไนยวนกล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงแล้ว มองว่าสาเหตุที่ตึก สตง.ถล่มครั้งนี้อาจไม่ได้เกิดจากวัสดุเหล็กเพียงอย่างเดียว เพราะการก่อสร้างจะมีวัสดุอื่นร่วมด้วย เช่น คอนกรีต ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างอาจไม่ได้ทำตามที่ออกแบบไว้

นายไนยวนกล่าวด้วยว่า จากเหตุการณ์ตึก สตง.ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวในไทยนั้น ทางบริษัทในฐานะผู้ประกอบการด้านวัสดุเหล็กยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพราะส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น สินค้าที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นก็ได้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของประเทศญี่ปุ่นมาเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ไม่ขอออกความคิดเห็นเชิงเปรียบเทียบในส่วนของมาตรฐานเหล็กของประเทศไทย ญี่ปุ่น และจีน เพราะเชื่อว่าแต่ละประเทศมีมาตรฐานการตรวจสอบอยู่แล้ว

ADVERTISMENT

สำหรับความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทยนั้น นายไนยวนกล่าวว่า หลังจากนี้ประเทศไทยอาจจะต้องมีการออกแบบโครงสร้างอาคาร โดยใช้เหล็กโครงสร้างแบบแผ่นมากขึ้น เพื่อให้ทนต่อการเกิดแผ่นดินไหว ยกตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งโดยปัจจุบันมาตรฐานการก่อสร้างจะออกแบบมาให้รับแรงสั่นสะเทือนกับการเกิดแผ่นดินไหวอยู่ที่ 6.8 และอาจมีการปรับเปลี่ยนพัฒนายิ่งขึ้นตามสถานการณ์

สำหรับข้อเสนอแนะที่อยากฝากถึงรัฐบาลในการกำกับดูแลผู้ประกอบการเหล็กนั้น นายไนยวนกล่าวว่า มองว่าจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเหล็กอาจปรับมาตรฐานการออกแบบการก่อสร้างอาคารเพื่อให้สามารถรองรับกับการเกิดแผ่นดินไหว หรือการเกิดภัยพิบัติธรรมชาติมากขึ้นไว้ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image