กรมการค้าภายใน จับตากาแฟยี่ห้อดังขาดตลาด ยันมีอยู่ในสต๊อก – เปิดปมข้อพิพาท

พณ.เผยห้างร้าน ยันกาแฟยี่ห้อดัง ไม่ขาด-ขายปกติ กำชับปิดราคา ฝ่าฝืนปรับครั้งละหมื่น

เมื่อวันที่ 8 เมษายน นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีมีกระแสข่าวตามสื่อว่ากาแฟยี่ห้อดังมีการหยุดส่งสินค้าชั่วคราว เนื่องจากติดปัญหาบางอย่าง ซึ่งอาจเกิดความกังวลว่าสินค้ากาแฟจะขาดตลาดและที่มีจำหน่ายอยู่จะราคาสูงขึ้น ว่า

กรมการค้าภายใน ได้มีการติดตามสถานการณ์การจำหน่ายสินค้ากาแฟอย่างใกล้ชิด แม้ว่ากาแฟไม่ใช่รายงานสินค้าในบัญชีควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ แต่เพื่อดูแลปัญหาปากท้องประชาชน กรมจึงต้องตรวจสอบเรื่องนี้ โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมออกตรวจสอบปริมาณและราคากาแฟในตลาด รวมถึงมีการกักตุนสินค้าหรือไม่ ทั้งในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ รวมถึงร้านจำหน่ายปลีกต่างๆ ซึ่งได้รับรายงานจากการตรวจสอบของกรมเอง พบว่า ยังมีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการ และมีการจำหน่ายในราคาปกติ

ทั้งนี้ เช้าของวันที่ 8 เมษายน กรมประชุมหารือกับผู้ค้าปลีกค้าส่งและห้างท้องถิ่น เพื่อติดตามสต๊อกสินค้า ปริมาณการขาย และราคาจำหน่าย ซึ่งได้รับยืนยันจากผู้ประกอบการค้าส่งระบุว่ามีการส่งของตามปกติ และไม่มีการชะลอการขาย แต่อย่างใด ในส่วนของสต็อกสินค้า ยังมีปริมาณเพียงพอต่อการจำหน่าย และในส่วนของผู้ค้าปลีก ยืนยันว่ายังมีสินค้าสำหรับจำหน่าย และไม่มีการขึ้นราคาแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันมีการสั่งซื้อกาแฟแบรนด์อื่นที่มีคุณภาพและมาตรฐานหลายยี่ห้อเข้ามาเพิ่มเติม และทางห้างมีการจัดรายการโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย อาทิ ลดราคาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้กาแฟแบรนด์ดังกล่าว จะมีสัดส่วนการตลาดที่สูงกว่าแบรนด์อื่น แต่ปัจจุบันตลาดสินค้ากาแฟมีการแข่งขันสูงทั้งด้านคุณภาพและด้านราคา ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อได้ ซึ่งจากการจำหน่าย พบว่าผู้บริโภคก็ตอบรับสินค้าในแบรนด์ใหม่ๆมากขึ้น

ADVERTISMENT

นายวิทยากร กล่าวว่า กรณีดังกล่าว กรมการค้าภายใน ยังไม่ได้รับการร้องเรียนว่าสินค้ากาแฟขาดตลาด ที่จะทำให้มีผลกระทบต่อประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม กรมจะติดตามสถานการณ์ราคาและปริมาณสินค้าอย่างใกล้ชิด ขอให้ห้างร้านหรือร้านจำหน่ายสินค้าทุกประเภทมีการปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคได้เปรียบเทียบราคาก่อนซื้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมร่วมกรมการค้าภายในกับตัวแทนห้างค้าปลีกและสมาคมร้านค้าใหญ่ แลกเปลี่ยนข้อมูลว่า ขณะนี้ กาแฟเนสท์เล่ มีสต๊อกในท้องตลาดเพื่อการจำหน่ายจากการจัดส่งล่าสุดประมาณ 30-45 วัน และให้มั่นใจว่ากาแฟยี่ห้ออื่นๆ ที่ส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 50% มีปริมาณสินค้าที่ออกสู่ตลาดเพียงพอ และจะร่วมมือกันโปรโมชั่นระหว่างห้างรายใหญ่ 5-6 รายกับผู้ผลิตกาแฟ ซึ่งยี่ห้อที่มีการยืนยันจะเพิ่มการส่งเข้าห้าง กระจายไปยังร้านค้า และจัดราคาพิเศษ อาทิ มอคโคน่า, เขาช่อง, เบอร์ดี้, ซุปเปอร์, เอสเพรสโซ่, บัดดี้ดีน เป็นต้น

ADVERTISMENT

พร้อมกันนี้ ทางกรมการค้าภายใน ประสานพาณิชย์จังหวัดแหล่งเพาะปลูกกาแฟ ให้ติดตามสถานการณ์ผลผลิตและราคารับซื้อเมล็ดกาแฟ หากพบผิดปกติ จะประสานให้โรงงานผลิตกาแฟรับรับซื้อ โดยในขณะนี้ราคากาแฟยังสูง ตามราคาโลกที่ยังทรงตัวสูง

ต้นเหตุกระแสข่าว ธุรกิจเนสกาแฟ ชะงัก

รายงานระบุว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากมีกระแสกาแฟยี่ห้อดัง มีการหยุดส่งสินค้าชั่วคราว เนื่องจากติดปัญหาบางอย่าง อาจเกิดความกังวลว่าสินค้ากาแฟจะขาดตลาดและที่มีจำหน่ายอยู่จะราคาสูงขึ้น ดังนั้น เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ทำหนังสือแจ้งลูกค้า ถึงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจเนสกาแฟว่า ขอบคุณที่ให้การสนับสนุนเนสท์เล่เป็นอย่างดีตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ขอเรียนแจ้งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจเนสกาแฟให้ท่านได้รับทราบ

เนสท์เล่ เป็นเจ้าของแบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียว โดยตั้งแต่ปี 2533 จนถึง 2567 เนสท์เล่ มีสัญญาการร่วมทุนกับนายประยุทธ มหากิจศิริ และได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ซึ่งถือหุ้นฝั่งละ 50/50 เพื่อดำเนินการผลิตผลิตลิตภัณฑ์เนสกาแฟในประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้ สัญญาการร่วมทุนดังกล่าวได้ยุติลง ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2567 และการยุติสัญญาดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายโดยคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล

ในหนังสือระบุอีกว่า ถึงแม้จะมีความพยายามอย่างมากในการพูดคุยเกี่ยวกับทิศทางของบริษัท QCP กับตระกูลมหากิจศิริ แต่ผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ฝ่ายไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ถึงอนาคตของบริษัท QCP ทางเนสท์เล่ จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเลิกบริษัท OCP ในวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนการพิจารณาคำร้องเพื่อขอเลิกบริษัทอยู่ในการพิจารณาของศาล

ช่วงเดือนมีนาคม ถึง เมษายน 2568 นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทในเครือเนสท์เล่ และกรรมการ 2 คดี และต่อมาศาลแพ่งมีนบุรีได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในแต่ละคดี ถือว่าเป็นคำสั่งในลักษณะที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และสร้างความตกกตะลึงและความผิดหวังให้กับเนสท์เล่

โดยวันที่ 3 เมษายน 2568 ศาลแพ่งมีนบุรี ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปโดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafe ในประเทศไทย ถึงแม้คำสังศาลฉบับนี้จะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่าเนสท์เล่เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและมีสิทธิพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจของตนเอง แต่บริษัทเนสท์เล่ ก็ให้ความเคารพต่อกฎหมายและจะปฏิบัติตามคำสั่งศาลฉบับนี้

ดังนั้น บริษัทจึงขอทำหนังสือฉบับนี้เพื่อเรียนแจ้งให้ท่านทราบว่า บริษัทจะไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟจากท่าน โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบภายหลัง บริษัทตระหนักดีถึงผลกระทบอันใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจของท่าน ในแง่ของรายได้ ความพึงพอใจของผู้บริโภค พนักงานของท่าน รวมถึงคู่ค้าซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่คุณค่า บริษัทหวังว่าท่านจะให้ความเข้าใจ ขณะที่บริษัทกำลังพยายายามทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างเร่งด่วนที่สุด

บริษัทฯ จะแจ้งความคืบหน้าให้ท่านทราบเป็นระยะๆ หากท่านมีคำถามใด สามารถติดต่อบริษัทได้โดยตรง ทั้งนี้ เนสท์เล่ มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และจะยังคงเดินหน้าลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้า ผู้บริโภค พนักงานของเรา เกษตรกรที่ทำงานร่วมกับเรา ตลอดจนพันธมิตรทางธุรกิจ และคู่ค้าของเรา บริษัทฯ ขอขอบพระคุณท่านสำหรับความเข้าใจ และหวังว่าจะร่วมมือทางธุรกิจกับท่านได้อย่างต่อเนื่องต่อไปขอแสดงความนับถือ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 เมษายนนี้ เนสท์เล่ ยื่นคัดค้านคำสั่งศาลที่ศาลแพ่งมีนบุรี และศาลจะนัดไต่สวนต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8 เมษายน เนสท์เล่ ยื่นคัดค้านคำสั่งศาลที่ศาลแพ่งมีนบุรี และศาลจะนัดไต่สวนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ในวันที่ 8 เมษายน เนสท์เล่ ได้ทำหนังสือเนื้อหาว่า เนสท์เล่ ห่วงใยผู้ประกอบการรายย่อย ผู้บริโภค เกษตรกรไทย และพนักงานของคู่ค้า ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลคุ้มครองชั่วคราว ในการห้ามผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์แบรนด์ Nescafe

โดย เนสท์เล่ ได้แจ้งยุติสัญญาที่ให้สิทธิ บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ในการผลิตเนสกาแฟในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งการยุติสัญญามีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายโดยคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากล โดยมีผลเป็นการเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2567

ภายหลังจากนั้น นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นในบริษัท QCP ได้ฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และศาลแพ่งมีนบุรี ได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafe ในประเทศไทย โดยที่เนสท์เล่ยังไม่มีโอกาสเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งดังกล่าว แต่เนสท์เล่ ให้ความเคารพต่อกฎหมายและได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลฉบับนี้ ทั้งนี้ เนสท์เล่ กำลังดำเนินการยื่นคัดค้านต่อศาล พร้อมยื่นข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ศาลแพ่งมีนบุรี

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image