ขุนคลังตัวแทนรบ.เจรจามะกัน เปิด 5 มาตรการตั้งเป้าปรับสมดุล10ปี
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 8 เมษายน ระหว่างประชุมร่วมกับหลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องรับมือภาษีสหรัฐ ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าไทยร้อยละ 36 มอบนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปเจรจากับสหรัฐอเมริกาในฐานะตัวแทนนายกรัฐมนตรี เบื้องต้นสหรัฐได้ตอบรับหนังสือนัดดังกล่าว จัดตารางเวลาให้เหมาะสม
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รู้ว่าเรื่องไม่ได้จบง่าย ๆ จึงต้องมาดูความต้องการที่แท้จริงสหรัฐก่อน เพื่อทำไปในทิศทางที่แก้ปัญหาได้ เป็นสิ่งที่เราอยากทำ รวมถึงได้ประโยชน์มากที่สุดด้วย อยากให้มั่นใจว่า วิธีแก้ปัญหาจะต้อง Win-Win กับทั้งสหรัฐและไทย ต้องยกระดับการผลิตของไทยด้วย ใช้วิกฤตมายกระดับการค้าประเทศ โดย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เตรียมทำในรายละเอียด จะทำให้ครบถ้วน แล้วไปนั่งเจรจาใน USTR ตนจะดูภาพรวม ตามโจทย์ของนายกฯ มานั่งดูว่าจะทำอะไรบ้าง โดยย้ำว่าจะต้องไม่ยอม ใครจะต้องได้รับผลประโยชน์สูงสุด ดำเนินการภายใต้จุดแข็งที่ประเทศไทยมี แล้วก็ไม่รีบพูด ต้องอ่านโจทย์สิ่งที่จะทำต้องไปแก้ปัญหาของทางสหรัฐ ขอเวลานิดหนึ่ง ขอทำโจทย์ให้ละเอียดก่อน
“ยอมรับแม้ว่าจะเป็นวิกฤติที่น่าหนักใจแต่ก็ถือว่ายังมีโอกาสในการยกระดับการค้าของไทยให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยไม่ได้เป็นการลดภาษีให้กับสหรัฐ แต่จะทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าไทยน้อยลงโดยคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลากว่า 10 ปีในการปรับสมดุลการค้าระหว่างสองประเทศ”นายพิชัยกล่าว
นายพิชัย กล่าวว่า ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯมากถึง 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี โดยสรุปแนวทางเบื้องต้นในการเตรียมการเจรจากับสหรัฐฯ ดังนี้
ปัจจุบันไทยมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากถึง 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี โดยมีแนวทาง 5 แผนงานดังนี้
1.นำเข้าสินค้าจากสหรัฐมากขึ้นโดยเน้นสินค้าที่ไทยมีความต้องการใช้ในประเทศ เช่น สินค้าเกษตร และเครื่องในสุกร รวมทั้งสินค้าพลังงาน เช่น ก๊าซธรรมชาติ ที่มีต้นทุนต่ำในสหรัฐ
2.ลดหรือยกเว้นภาษีให้สินค้าสหรัฐที่ไทยเก็บภาษีได้ไม่สูงนัก โดยมีการจัดเก็บรายได้ต่อปีไม่มากนักอยู่แล้ว กว่า 100 รายการ
3.ยกเลิกมาตรการที่เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non tariff barrier) เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าสหรัฐมากขึ้น
4.การให้ความสำคัญกับการคัดถิ่นกำเนิดสินค้าที่มาใช้ไทยเป็นแหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อป้องกันการสวมสิทธิแหล่งกำเนิดสินค้าจากไทย และส่งออกไปยังสหรัฐ
และ 5.การสนับสนุนภาคเอกชนไทยที่มีศักยภาพให้ไปลงทุนในสหรัฐมากขึ้น เช่น ภาคเกษตร ภาคพลังงาน สอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐที่สนับสนุนในเรื่องนี้