รมว.อุตฯ ดึง กขค. ร่วมแก้ปัญหาธุรกิจเหล็กไทย

รมว.อุตฯ ดึง กขค. ร่วมแก้ปัญหาธุรกิจเหล็กไทย

ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (เลขาธิการ กขค.) เข้าร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของเหล็ก SKY ที่มีนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รมว. อุตสาหกรรม) เป็นประธานการประชุมฯ ในวันที่ 9 เมษายน ว่า สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ของหัวหน้าคณะทำงาน รมว. อุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเก็บตัวอย่างเหล็กเส้น เหล็กข้ออ้อย และลวดสลิง ณ อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ตึกใหม่) ที่ได้ถล่มลงมา โดยมีการเก็บตัวอย่างไปทดสอบคุณภาพบางส่วนแล้ว พบว่า ตัวอย่างเหล็กบางประเภทมีผลการทดสอบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งที่ประชุมฯ กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะที่กำกับดูแลสินค้ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ยังยืนหลักในการตรวจสอบวัสดุที่อยู่ในมาตรฐานบังคับตามเกณฑ์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) โดยจะดำเนินการเข้าไปเก็บตัวอย่างของเหล็กในจุดอื่นๆ เพิ่มเติม รวมทั้งวัสดุอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้ สมอ. และมีการบังคับภายใต้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จะเร่งดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด

สำหรับการดำเนินการด้านกฎหมาย การตรวจสอบ และขยายผลเกี่ยวกับการฮั้วประมูล นั้น เลขาธิการ กขค. แจ้งที่ประชุมฯ ว่า มี 2 ประเด็นหลักที่เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ได้แก่
1. ประเด็นราคา โดยจะพิจารณาเกี่ยวกับการตั้งราคาสินค้าที่ต่ำกว่าต้นทุน (Price Below Cost) ซึ่งมีหลายปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างต้นทุน หนึ่งในนั้นคือเรื่องคุณภาพ แม้ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ไม่ได้พิจารณาเรื่องคุณภาพเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อสินค้ามีคุณภาพต่ำอาจมาจากต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) จะตรวจสอบเรื่องนี้ต่อไป
2. ประเด็นการฮั้วประมูล หากพิจารณาแล้วพบว่า บริษัทที่ยื่นประมูลมีการฮั้วกับบริษัทอื่นที่แข่งขัน ในตลาดเดียวกันอันเป็นการลดการแข่งขันในตลาดนั้นจะมีความผิดทางอาญา และหากมีการฮั้วกันคนละตลาดจะมีความผิดทางปกครอง ซึ่งสำนักงาน กขค. จะตรวจสอบในกรณีดังกล่าว โดยมีหนังสือเรียก บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ให้เข้ามาชี้แจงแล้ว

“แต่ทั้งสองบริษัทขอตรวจสอบข้อมูลแล้ว จะรีบเข้ามาชี้แจงต่อสำนักงาน กขค. ทันที ส่วนบริษัทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทางสำนักงาน กขค. จะรวบรวมข้อมูลก่อนส่งหนังสือให้มาชี้แจงเช่นเดียวกัน และหากบ่ายเบี่ยงไม่เข้ามาชี้แจง จะถือว่ามีความผิดและมีบทลงโทษตาม พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560”

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจแต่หากมีการบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ หรือกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องจะทำให้การแก้ไขปัญหาลุล่วงไปได้ด้วยดียิ่งขึ้น โดย รมว. อุตสาหกรรม ได้ให้ความสนใจ และเข้าใจบทบาทหน้าที่ รวมทั้งชักชวนให้สำนักงาน กขค. เข้าร่วมขบวนในคณะทำงานดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวด้วย

ADVERTISMENT

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image