วิกฤตกำลังซื้อ กู้ไม่ผ่านพุ่ง90% ฉุดตลาดอสังหาฯ ขาดสภาพคล่อง สต๊อกระบายช้า ใช้เวลาขาย 5-6 ปี

วิกฤตกำลังซื้อ กู้ไม่ผ่านพุ่ง90% ฉุดตลาดอสังหาฯ ขาดสภาพคล่อง สต๊อกระบายช้า ใช้เวลาขาย 5-6 ปี

เมื่อวันที่ 9 เมษายน นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า ผลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 มีผลกระทบตึกสูงมากกว่าตึกเตี้ยและแนวราบ ดังนั้นจึงมองว่าผลที่ตามาคือ ทำให้เทรนด์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยเปลี่ยนไป ตลาดเช่าจะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งคนอาจจะหายตกใจแผ่นดินยังอยู่อาศัยในตึกสูง แต่เปลี่ยนจากการซื้อเป็นการเช่าแทน และเลือกเช่าเฉพาะคอนโดสูงที่ขายวิวสวยๆ เช่น แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น ขณะเดียวกันจะเป็นโอกาสของตลาดบ้านแนวราบ และคงเห็นผู้ประกอบการอสังหาฯชะลอเปิดตัวโครงการคอนโดสูงๆ หันมาเปิดโครงการแนวราบย่านชานเมืองมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่2 นี้

“อีกเทรนด์อาจจะได้เห็นคือ โครงการที่รับแรงสั่นแผ่นดินไหวได้ จะเป็นจุดขายใหม่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ซึ่งผู้ประกอบการอาจต้องลงทุนเพิ่มเรื่องของโครงสร้างให้มากกว่ากฎหมายที่กำหนด จะมีผลต่อราคาขายเพิ่มไปด้วย เช่น คอนโดฯถ้าหากใช้เทคโนโลยีญี่ปุ่นที่เป็นโครงสร้างเหล็ก ราคาขายจะเพิ่มขึ้น 15-20% เป็นต้น ส่วนบ้านแนวราบเนื่องจากแผ่นดินไหวกระทบน้อย อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มก็ได้ แต่ปัจจุบันมีบางค่ายที่มีขายบ้านรับแรงสั่นแผ่นดินไหวอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ซื้อ คนมีกำลังซื้อสูงอาจจะเลือกซื้อบ้านต้านแผ่นดินไหว ถ้าไม่มีกำลังซื้อมากพอก็อาจจะเลือกอยู่ตามมาตรฐานของกฎหมายปัจจุบัน“นายพรนริศกล่าว

นายสุนทร สถาพร นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สถาพร เรียลเอสเตท จำกัด กล่าวว่าที่อยู่อาศัยแนวราบทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์และโฮมออฟฟิศ ในช่วง 7 วันแรก นับจากเหตุแผ่นดินไหวมีอัตราการค้นหาทางออนไลน์สูงขึ้นอย่างชัดเจนน่าจะส่งผลให้ที่อยู่อาศัยแนวราบ คาดว่าทำให้ยอดโอนน่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% จากเดิมศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์( REIC)ประเมินว่าปีนี้มียอดโอนทั่วประเทศที่ 2.3% ส่วนคอนโดฯสูงเกิน 8 ชั้น คาดชะลอตัว 2-3 เดือนแรกนี้ อย่างไรก็ดีจากเหตุแผ่นดินไหว ทั้ง 3 สมาคมอสังหาฯจะหารือกับผู้เชียวชาญว่ามีความจำเป็นจะต้องออกแบบบ้านให้รองรับแผ่นดินไหวให้มากขึ้นจากที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งในส่วนของสถาพรคงต้องดูในส่วนของโครงการคอนโดที่สร้างสูงเกิน 8 ชั้น

ADVERTISMENT

“ ปีนี้ตลาดอสังหาฯเผชิญหลายวิกฤตทั้งเศรษฐกิจ กำลังซื้อ แบงก์เข้มงวดการปล่อยกู้ ทำให้ยอดถูกปฎิเสธสินเชื่อหรือรีเจกต์เรตยังคงสูงขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจการขอสินเชื่อของลูกค้ารายย่อยจากแบงก์เอกชนและรัฐในไตรมาส1/2568 จาก 22 บริษัท ซึ่งมี 272 โครงการอยู่ระหว่งการขาย พบว่ามียอดรีเจกต์เรตทุกระดับราคาที่ 45% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 40% มากสุดต่ำกว่า 3 ล้านบาท รองลงมา 3-5 ล้านบาท ซึ่งสองกลุ่มนี้รวมกันสูงถึง 90% ซึ่งสาเหตุที่แบงก์ปฏิเสธสินเชื่อลูกค้ามากสุดคือ ติดเครดิตบูโร ภาระหนี้สูง รายได้ไม่มั่นคง และผลจากรีเจกต์เรตสูงขึ้นคือ ลูกค้าเปลี่ยนใจไม่รับโอน สต๊อกมีอยู่กว่า 2 แสนหน่วยใช้เวลาการขายนานขึ้นเป็น 5-6 ปี กระทบยอดขายและรายได้ การลงทุนขยายโครงการใหม่ ขาดสภาพคล่อง จึงอยากให้แบงก์ปรับปรุงเกณฑ์ให้ยืดหยุ่นและผ่อนปรนมากขึ้น”นายสุนทรกล่าว

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ยอดขายและยอดโอนของตลาดอสังหาฯยังไม่ฟื้นตัว ปัญหาสภาพคล่องจึงสำคัญที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการต้องพึ่งแบงก์หรือออกหุ้นกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่ปัจจุบันคนขาดความเชื่อมั่นตลาดหุ้นกู้ทำให้การออกหุ้นกู้ลำบาก ซึ่งปีนี้มีหุ้นกู้อสังหาฯครบกำหนดชำระ 121,054 ล้านบาท ซึ่งในนี้มีจำนวนหนึ่งที่จะครบกำหนดชำระเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ ดังนั้นอยากให้แบงก์พิจารณาการปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ซึ่งเฉพาะมาตรการลดค่าโอนและจำนองและผ่อนเกณฑ์ LTV คงไม่พอที่จะกระตุ้นกำลังซื้อและทำให้เกิดรายได้จากการโอนได้รวดเร็วมากนัก

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image