ส่งออกอัญมณี-เครื่องประดับไทย หายใจคล่องขึ้น หลังทรัมป์ชะลอภาษีตอบโต้ 36%

ส่งออกอัญมณี-เครื่องประดับไทย หายใจคล่องขึ้น หลังทรัมป์ชะลอภาษีตอบโต้ 36%

เมื่อวันที่ 10 เมษายน นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า แนวโน้มตัวเลขการส่งออกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คาดยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯที่เร่งนำเข้า เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องภาษี แต่ผลจากการที่สหรัฐฯ ได้เริ่มเก็บภาษีนำเข้า 10% แล้ว คงต้องจับตาดูว่า จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ในเดือนเมษายนนี้ เป็นต้นไปอย่างไร เพราะเดิมอัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยต่ำมากแค่ 0-6.5% เท่านั้น

” แต่ยังดีที่ไม่เจอ 36% เพราะถูกชะลอออกไป 90 วัน ซึ่งทำให้ส่งออกหายใจได้คล่องขึ้น และต้องติดตามดูสถานการณ์ต่อไปว่าจะสามารถเจรจาปรับลดอัตราภาษีได้หรือไม่ ” นายสุเมธ กล่าว

นายสุเมธ กล่าวว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนกุมภาพันธ์ 2568 มูลค่า 2,297.95 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 104.23% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน หากรวมทองคำ มูลค่า 4,032.21 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 121.29% และการส่งออกรวม 2 เดือนแรก 2568 ไม่รวมทองคำ มูลค่า 3,231.58 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 73.22% รวมทองคำ มูลค่า 6,133.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 102.32%

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ การส่งออกเฉพาะทองคำในเดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่า 933.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 26.395% จากการส่งออกไปเก็งกำไร เพราะมีปัจจัยหนุนจากแรงซื้อทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ทำให้ราคาทองคำทำสถิติสูงสุดที่ 2,937 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ ส่วนยอดรวมส่งออกทองคำ 2 เดือน มีมูลค่า 2,101.50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 73.74% แยกเป็นรายเดือนมกราคม 2568 มูลค่า 1,167.87 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 148.95%

” ตลาดส่งออกสำคัญ สหรัฐฯ มาแรงสุด เพิ่ม 31.61% จากการเร่งนำเข้า เพื่อลดความเสี่ยงจากมาตรการภาษี เพราะในเดือนเมษายน ยังไม่รู้ว่าจะสหรัฐฯ จะประกาศขึ้นภาษีกับไทยในอัตราเท่าใด ส่วนเยอรมนี เพิ่ม 8.56% อิตาลี เพิ่ม 4.37% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 13.80% ญี่ปุ่น เพิ่ม 4.37% ส่วนฮ่องกง ลด 8.09% เบลเยียม ลด 21.24% กาตาร์ ลด 46.92% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลด 29.99% ”

ADVERTISMENT

นายสุเมธ กล่าวว่า ส่วนการส่งออกสินค้า แพลทินัม เพิ่ม 155,712.30% จากการส่งออกไปอินเดียเกือบทั้งหมด เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 12.18% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 40.99% พลอยก้อน เพิ่ม 11.17% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 22.34% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 14.17% ซึ่งกลุ่มพลอย ขยายตัวต่อเนื่อง เพราะมีการซื้อไปลงทุน เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 2.98% ส่วนเครื่องประดับทอง ลด 11.99% ส่วนเพชรก้อน ลด 33.86% เพชรเจียระไน ลด 29.48% เนื่องจากการส่งออกไปยังฮ่องกง เบลเยียม และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ลดลง

นายสุเมธ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะ ขอให้จับตาพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยปัจจุบันหลายแบรนด์ได้ออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องประดับเพื่อเสริมบุคลิกและความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น ด้วยการใช้ 12 บุคลิกทางธุรกิจ (Brand Archetypes) เพื่อเสริมความมีบุคลิกที่ชัดเจนของแบรนด์ อันเป็นสิ่งสำคัญที่สามารถสะท้อนผ่านโลโก้ การสื่อสาร โฆษณา การบริการลูกค้า และการออกแบบสินค้า ทำให้สามารถสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้ง เป็นที่จดจำ เสริมสร้างความโดดเด่นให้แบรนด์ในตลาดที่มีการแข่งขันสูงเช่นนี้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image