เอกนัฏ จ่อลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเหล็กตึกสตง.ถล่มตรวจซ้ำ ประกาศเดินหน้าเอาผิดตามกฎหมาย
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงจะดำเนินการตรวจสอบกรณีเหล็กตกมาตรฐานที่อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรณีการครอบครองฝุ่นแดงของบริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด อย่างถึงที่สุดและนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ โดยหลังจากนี้จะเข้าเก็บตัวอย่างเหล็กอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 นี้ หลังได้เข้าหารือและ ร่วมวางแผนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าพื้นที่เพื่อให้เกิดความเป็นระบบและตรงตามวัตถุประสงค์ให้มากที่สุด
โดยในวันที่ 11 เมษายนนี้ กระทรวงจะลงพื้นที่เก็บตัวเองเหล็กเส้นของบริษัท ซินเคอหยวน เพื่อตรวจสอบคุณภาพซ้ำอีกครั้ง หลังจากได้ดำเนินการตรวจสอบเหล็กประเภทต่างๆ แล้วในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย ว่ามีเหล็กเส้นที่มีปัญหาอยู่ในอาคารอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยหรือไม่ ซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากบริษัท ซินเคอหยวน เช่นกัน
“ได้มอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พิจารณาว่า สามารถเอาผิดบริษัท ซินเคอหยวน ในฐานไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลตามมาตรา 56 พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้หรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ กระทรวงได้ทำหนังสือเพื่อขอข้อมูลชี้แจงข้อเท็จจริง จากซินเคอหยวนว่า ได้ขายเหล็กล็อตที่มีปัญหาให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรายใดไปบ้างหรือไม่ แต่กลับได้คำตอบเพียงว่าไม่ได้ขายเหล็กให้โครงการก่อสร้างตึก สตง. โดยตรง จึงไม่สามารถตอบได้ ทำให้กระทรวงไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ใดเพิ่มเติม” นายเอกนัฏ กล่าว
นายเอกนัฏ กล่าวว่า ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2567 – มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ทีมสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการยึดอายัดเหล็กเส้นกลม เหล็กข้ออ้อย และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ที่ไม่ได้มาตรฐาน จากโรงงานผู้ผลิตในจังหวัดชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี นครราชสีมา และสระแก้ว จำนวน 7 ราย ซึ่งเป็นโรงงานร่วมทุนกับต่างชาติ 4 ราย และโรงงานไทย 3 ราย รวมมูลค่ายึดอายัด 361,413,115 บาท โดยกระบวนการต่อไปกระทรวงจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และพ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพื่อพิจารณาในการพักใช้ใบอนุญาต และจะนำไปสู่การถอนใบอนุญาตถาวร รวมถึงจะถูกดำเนินคดีตามโทษต่างๆ ที่จะได้กระทำความผิด ภายหลังจากที่มีผลการตรวจสอบออกมาชัดเจน
นายเอกนัฏ กล่าวว่า ส่วน มอก.20 เหล็กเส้นกลม และ มอก. 24 เหล็กข้ออ้อยที่ผลิตจากเตาหลอมเหล็กชนิด IF (Induction Furnace) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลอมเหล็กแบบเก่า ซึ่งมีเสียงวิจารณ์วงกว้างถึงปัญหาเรื่องคุณภาพและความบริสุทธิ์ของเหล็ก รัฐมนตรีเอกนัฎ ได้สั่งการให้ สมอ. ศึกษาแนวทางแก้ไข หรือ ยกเลิก มอก. เหล็กเส้นจากเตาหลอมเหล็ก IF ชนิดนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความสม่ำเสมอของมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นไทยในอนาคต
“สำหรับกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า สมอ. ได้ต่ออายุใบอนุญาต มอก. ให้กับ บริษัท ซินเคอหยวน เมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา ขอยืนยันอีกครั้งว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง บริษัทดังกล่าว ปัจจุบันยังถูกแจ้งเตือนก่อนสั่งพักใช้ใบอนุญาตฯ ตามมาตรา 40 กรณีผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานห้ามผลิต ห้ามจำหน่าย สินค้าเหล็กเส้นที่ทดสอบไม่ผ่านมาตรฐาน ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ตามการยืนยันของ สมอ. ซึ่งสินค้าไม่ได้มีการต่ออายุใบอนุญาต มอก. ตามข่าวที่เผยแพร่ไปแต่อย่างใด” นายเอกนัฏ กล่าว
นายเอกนัฏ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 สมอ.ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังบริษัทตามมาตรา 40 กรณีผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานห้ามผลิต ห้ามจำหน่ายสินค้าเหล็กเส้นที่ทดสอบไม่ผ่านมาตรฐาน และจะไม่ทดสอบตัวอย่างเหล็กล็อตเก่าซ้ำอีกครั้ง โดยหนังสือแจ้งเตือนให้เวลา 30 วัน ในการสั่งปรับปรุงแก้ไขสินค้า ซึ่งหนังสือฉบับดังกล่าวหมดอายุแล้ว แต่บริษัทอ้างว่าโรงงานถูกสั่งให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราว จึงไม่สามารถผลิตเหล็กล็อตใหม่ออกมาให้ตรวจสอบได้
สมอ.จึงทำหนังสือด่วนที่สุดถึงซินเคอหยวน เมื่อวันที่ 8 เมษายน อีกครั้ง เรื่องสรุปผลการตรวจติดตาม ว่าไม่อนุมัติทดสอบซ้ำอีกครั้ง และแจ้งเตือนให้แก้ไขปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานตามที่มีการทำหนังสือแจ้งเตือนไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยหนังสือแจ้งเตือนยังคงมีผลบังคับใช้อยู่จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
“จากนี้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการแลกเปลี่ยนและสนับสนุนข้อมูลร่วมกันเพื่อเอาผิดกับโรงงานผลิตเหล็กดังกล่าวตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน ซึ่ง DSI สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ เนื่องจากมีความซับซ้อนและกระทบต่อระบบเศรษฐกิจภาพรวม กรณีนี้นับเป็นต้นแบบของการทำงานของหน่วยงานรัฐเพื่อสู้กับธุรกิจศูนย์เหรียญในประเทศไทยด้วย” นายเอกนัฏ กล่าว