จับตาเนสท์เล่ แก้เกมศึก ‘เนสกาแฟ’ ร้านค้าห่วงสินค้าขาดตลาด กระทบยอดขาย
ยังคงเป็นประเด็นร้อนน่าจับตาในวงการธุรกิจ หลัง “เนสท์เล่” เจ้าของแบรนด์ “เนสกาแฟ” แต่เพียงผู้เดียวนับตั้งแต่ปี 2533 แจ้งยุติสัญญาที่ให้สิทธิบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ในการผลิต ”เนสกาแฟ” ในปี 2564 และมีผลทางกฎหมายตามคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการสากลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2567
อ่านข่าว เนสท์เล่ ร่อนแถลง ห่วงผู้ประกอบการรายย่อย หลังศาลสั่งห้ามผลิต-ขาย เนสกาแฟ
ต่อมา ”ศาลแพ่งมีนบุรี”ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณี “เฉลิมชัย มหากิจศิริ” หนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ฟ้องดำเนินคดี “เนสท์เล่” โดยศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ห้ามมิให้ ”เนสท์เล่” ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์ ”เนสกาแฟ” ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” ในประเทศไทย
จากนั้นวันที่ 4 เมษายน 2568 ”เนสท์เล่” ได้ทำหนังสือแจ้งลูกค้าผู้ประกอบการร้านค้าปลีกต่างๆ ทั่วประเทศว่าบริษัทจะไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟได้ โดยมีผลตั้งแต่บัดนี้จนกว่าจะมีการแจ้งให้ทราบภายหลัง
ขณะที่ ”เนสท์เล่” ก็พยายามแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ล่าสุดได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา พร้อมรวบรวบข้อมูลจากร้านค้าเพื่อยื่นให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตามแม้ว่าช่วงเวลาจากนี้ “ร้านค้าปลีกและร้านค้าย่อย” ที่มีผลิตภัณฑ์เนสกาแฟอยู่ในร้าน ยังสามารถจำหน่ายได้ตามปกติ แต่ยังเป็นที่กังวลว่าหลังสต๊อกหมดแล้ว บทสรุปสุดท้ายจะเป็นอย่างไรต่อไป ถ้าหาก”เนสท์เล่” ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ แม้ในตลาดจะมีกาแฟสำเร็จรูปจำหน่ายหลายแบรนด์ แต่ต้องยอมรับ”เนสกาแฟ”นั้นครองส่วนแบ่งการตลาดมากสุด 60-70% หากสินค้าไม่มีขาย รายได้ของร้านค้าจะหายไปมากน้อยขนาดไหน
มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีกรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ขณะนี้ทางร้านค้ากำลังทำหนังสือถึงผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้น ต่อเนสท์เล เพื่อยื่นต่อศาลต่อไป ยังไม่รู้ว่าจะทันก่อนสงกรานต์หรือไม่ เนื่องจากกว่าจะรวบรวมและยื่นต่อศาลนั้นคงต้องใช้เวลาอีกหลายวัน คาดว่าบริษัทน่าจะดำเนินการได้หลังสงกรานต์ไปแล้ว
“ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าผลกระทบจะมากแค่ไหน เพราะแต่ละร้านยังคงมีสินค้าเก่าเหลืออยู่ เพราะที่ผ่านมาเนสท์เล่เขาส่งสินค้าเป็นรอบๆ วนไปแต่ละร้านค้า ซึ่งก็มีบางร้านค้าที่ไม่ได้สินค้า ต้องหาซื้อจากร้านค้าขนาดใหญ่ อย่างร้านเราก็มีร้านค้าส่งจากจังหวัดอื่นๆมาซื้อเพื่อนำไปขายมากขึ้น หลังจากที่เนสท์เล่แจ้งไม่รับคำซื้อแล้ว ตอนนี้ยังมีขายแต่ก็เหลือน้อย ก็กังวลว่าต่อไปอาจจะขาดตลาดได้ ซึ่งที่ร้านเองขายสินค้าให้เนสท์เล่ปีละ 300-400 ล้านบาท หรือเดือนละ 30 กว่าล้านบาท เป็นเนสกาแฟเดือนละประมาณ 18-20 กว่าล้านบาท ถ้าไม่ได้ขายต่อ คงมีผลกระทบต่อรายได้มากพอสมควร”มิลินทร์กล่าว
“มิลินทร์” กล่าวว่า ต้องยอมรับด้วยแบรนด์ของเนสกาแฟนั้นทำตลาดมานาน และมีส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่ง ซึ่งผู้บริโภคจะมีความคุ้นชินมากกว่า หลายคนอาจจะบอกว่ายังมีกาแฟแบรนด์อื่นเป็นทางเลือกเพิ่มนั้นก็จริง แต่ถ้าหากเนสกาแฟไม่มีขายเลย กาแฟแบรนด์อื่นๆจะผลิตในปริมาณมากเพื่อป้อนตลาดได้หรือไม่
“เข้าใจว่าทางเนสท์เล่กำลังแก้ไขสถานการณ์ให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นเนสท์เล่นำเนสกาแฟที่ผลิตจากประเทศอื่นมาให้ร้านค้าขาย ถ้าหากไม่สามารถผลิตในโรงานเก่าได้ เช่น นำเข้ากาแฟที่ผลิตจากประเทศเวียดนาม เป็นต้น เพราะเนสท์เล่ยังสามารถใช้แบรนด์เนสกาแฟได้ แต่ตอนนี้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จึงทำให้ขายไม่ได้ ต้องรอดูสถานการณ์กันต่อไป”มิลินทร์กล่าว
อนึ่ง จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด
- ในปี 2562 มีรายได้รวม 15,177 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,389 ล้านบาท
- ปี2563 มีรายได้รวม 15,772 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,683 ล้านบาท
- ปี 2564 มีรายได้รวม 15,459 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,704 ล้านบาท
- ปี2565 มีรายได้รวม 17,115 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,403 ล้านบาท
- ปี 2566 มีรายได้รวม 17,183 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,067 ล้านบาท