ไทย สมายล์ บัส ปรับสูตรค่าโดยสารใหม่ “ถูกลง” หนุนคนเดินทางมากขึ้น
ไทย สมายล์ บัส (TSB) ประกาศปรับสูตรการคิดค่าโดยสารใหม่ รับเทศกาลสงกรานต์ หวังให้ผู้โดยสารจ่ายค่าเดินทางน้อยลงและเดินทางได้มากขึ้น โดยการปรับปรุงนี้จะสอดคล้องกับจำนวนป้ายรถเมล์ย่อยที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเมือง สนองนโยบายกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ในการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน
นายวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด หรือ TSB เปิดเผยว่า บริษัทได้หารือกับกรมการขนส่งทางบกอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับสูตรการคำนวณค่าโดยสารสำหรับป้ายย่อยให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันที่มีป้ายจราจรมากขึ้น โดยยังคงอิงตามตารางบันไดราคาและป้ายหลักตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด TSB ในฐานะภาคเอกชนไทย มีความตั้งใจที่จะสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการลดค่าครองชีพ จึงนำร่องปรับสูตรการคิดค่าโดยสารเพื่อให้ผู้โดยสารจ่ายถูกลงและหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น สำหรับสูตรการคิดค่าโดยสารแบบใหม่นี้เรียกว่า “ขึ้นปัดขึ้น ลงปัดลง” โดยมีหลักการดังนี้:
- “ขึ้นปัดขึ้น”: เมื่อผู้โดยสารขึ้นรถที่ป้ายย่อยใดก็ตาม ค่าโดยสารจะถูกคิดจากป้ายหลัก (Main Bus) ถัดไปที่รถยังไม่ถึง
- “ลงปัดลง”: เมื่อผู้โดยสารลงรถที่ป้ายย่อยใดก็ตาม ค่าโดยสารจะถูกคิดจากป้ายหลัก (Main Bus) ก่อนหน้าที่รถได้ขับผ่านมาแล้ว
หลักการนี้จะส่งผลให้ค่าโดยสารสำหรับการเดินทางระหว่างป้ายย่อยถูกลง เนื่องจากระบบจะคำนวณจากป้ายหลักที่มีระยะทางต่ำกว่าระยะทางจริงของการเดินทาง ตัวอย่างเช่น ผู้โดยสารขึ้นรถเมล์สาย 2-38 (สาย 8 เดิม) จากป้ายแม็คโครลาดพร้าว และต้องการลงที่ป้ายตรงข้ามศึกษาภัณฑ์ลาดพร้าว:
- แบบเดิม: ค่าโดยสารจะคิดจากป้ายหลักถัดจากแม็คโครลาดพร้าว (ตรงข้ามโรงพยาบาลเวชธานี) ไปจนถึงป้ายหลักก่อนถึงตรงข้ามศึกษาภัณฑ์ลาดพร้าว (ซอยลาดพร้าว 78) ซึ่งมีราคา 20 บาท
- แบบใหม่: ค่าโดยสารจะคิดแบบ “ขึ้นปัดขึ้น” ไปที่ป้ายตรงข้ามโรงพยาบาลเวชธานี และ “ลงปัดลง” มาที่ป้ายซอยลาดพร้าว 78 ทำให้ผู้โดยสารจ่ายเพียง 15 บาท เท่านั้น เนื่องจากเป็นการคิดค่าโดยสารในระยะทางที่สั้นลง
ทั้งนี้ นายวรวิทย์กล่าวว่า ไทย สมายล์ บัส ยืนยันว่าอัตราค่าโดยสารของรถเมล์ทุกคันยังคงเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก นอกจากนี้ ผู้โดยสารที่ใช้บัตร HOP Card ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ เดลิ แมกซ์ แฟร์ (Daily Max Fare) จ่ายสูงสุดเพียง 40 บาทต่อวันสำหรับการเดินทางด้วยรถเมล์ไฟฟ้า หรือเรือโดยสารไฟฟ้าอย่างใดอย่างหนึ่ง และจ่ายสูงสุด 50 บาทต่อวันสำหรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถเมล์และเรือโดยสารไฟฟ้า