ดีอี เผยข่าวปลอม ‘เตือนด่วน! แผ่นดินไหว 3 จังหวัด เสี่ยงแรงสั่นสะเทือน’ คนสนใจมากสุด

ดีอี เผยข่าวปลอม ‘เตือนด่วน! แผ่นดินไหว 3 จังหวัด เสี่ยงแรงสั่นสะเทือน’ คนสนใจมากสุด

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ในฐานะโฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 4-10 เมษายน 2568 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 838,297 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 518 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 498 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 19 ข้อความ และช่องทาง Facebook จำนวน 1 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 175 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 74 เรื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงดีอี ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

ADVERTISMENT

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 79 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 32 เรื่อง

ADVERTISMENT

กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 24 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 9 เรื่อง

กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 31 เรื่อง

นายเวทางค์กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าเป็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องของภัยพิบัติ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว และเหตุการณ์ต่อเนื่อง ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความตื่นตระหนก เข้าใจผิด สับสน และวิตกกังวลได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล “ดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

อันดับที่ 1 : เรื่อง เตือนด่วน! แผ่นดินไหว 3 จังหวัด เสี่ยงแรงสั่นสะเทือน

อันดับที่ 2 : เรื่อง สังเกตให้ดี! รอยเลื่อนก่อนเกิดแผ่นดินไหว

อันดับที่ 3 : เรื่อง เช็กสิทธิ์ด่วน! เงินดิจิทัลเฟส 3 ขั้นตอน 3 ผ่านชัวร์ ขั้นตอน 4 รีบอุทธรณ์ทันที

อันดับที่ 4 : เรื่อง หอเตือนภัยสึนามิ จ.ภูเก็ต หายสาบสูญ

อันดับที่ 5 : เรื่อง เตือน! อีก 3 เดือน จะเกิดแผ่นดินไหว

อันดับที่ 6 : เรื่อง กระทรวงดิจิทัลฯ รับสมัครลูกจ้างประจำอำเภอ

อันดับที่ 7 : เรื่อง เวียนศีรษะตั้งแต่แผ่นดินไหวแล้วยังไม่หาย อาจเกิดจากการไหลเวียนในร่างกายติดขัด

อันดับที่ 8 : เรื่อง จ่าย 1,000 บาท จะได้สติ๊กเกอร์ตัว T ติดรถ ใช้ขนสินค้าจากลาวเข้าไทยได้โดยไม่ต้องมีพาสปอร์ตรถ

อันดับที่ 9 : เรื่อง เงินดิจิทัล 10,000 แจก 9 เฟส แบ่งตามช่วงอายุ เตรียมรับสิทธิ์ตามลำดับ!

อันดับที่ 10 : เรื่อง ท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีดำ และเกิดเมฆรูปนิ้วมือ จะเกิดตึกสูงขนาดใหญ่ 2 แห่งถล่ม

“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับข้างต้น พบว่าเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของภัยพิบัติ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดิน ซึ่งเป็นทำให้เกิดความตื่นตระหนก เข้าใจผิด ความสับสนในสังคม โดยหากมีการแชร์ส่งต่อกันไปในสังคม มีผลทำให้ประชาชนเกิดความสับสน นอกจากนี้ยังมีเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่อาจส่งผลกระทบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นวงกว้าง” นายเวทางค์กล่าว

สำหรับอันดับ 1 เรื่อง “เตือนด่วน! แผ่นดินไหว 3 จังหวัด เสี่ยงแรงสั่นสะเทือน” กระทรวงดีอี โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า จากข้อมูลที่ระบุว่า “กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว เตือนด่วน 3 จังหวัดเกิดแผ่นดินไหว” ไม่เป็นความจริง และไม่มีประกาศเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 ที่มีการระบุในข้อมูลปลอมนั้น มีรายงานแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ดังนี้

– เวลา 01.08 น. ต.เวียงเหนือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ขนาด 2.0
– เวลา 01.57 น. ต.บ้านแก่ง อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ขนาด 1.4
– เวลา 03.15 น. ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ขนาด 1.7

สำหรับการเกิดแผ่นดินไหวเหล่านี้มีขนาดเล็กมาก และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือโครงสร้างพื้นฐาน โดยประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังแผ่นดินไหวตลอด 24 ชั่วโมง โดย กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งจะออกประกาศเตือนทันที หากพบแผ่นดินไหวที่อาจส่งผลกระทบ

ในส่วนข่าวปลอมอันดับ 2 เรื่อง “สังเกตให้ดี! รอยเลื่อนก่อนเกิดแผ่นดินไหว” กระทรวงดีอีได้ประสานงานตรวจสอบร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า เป็นข้อมูลเท็จ โดยขอชี้แจงว่า ข่าวปลอมดังกล่าวได้เผยแพร่ภาพรอยแตกในคลิปวิดีโอ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกับรอยเลื่อนมีพลัง ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณีได้ศึกษา 16 กลุ่มรอยเลื่อนมีพลัง และจัดทำสมุดแผนที่รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ฉบับ พ.ศ.2566 ที่นำเสนอข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยที่อาจจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในอนาคต สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก e-book : https://anyflip.com/kera/wglh/

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image