ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ชี้ขาดให้ ‘เนสท์เล่’ เป็นผู้ถือสิทธิ กลับมาขาย ‘เนสกาแฟ’ ได้แล้ว

เนสกาแฟ – ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ชี้ขาดให้ ‘เนสท์เล่’ เป็นผู้ถือสิทธิ กลับมาขาย ‘เนสกาแฟ’ ได้แล้ว

เนสกาแฟ – ความคืบหน้าของข้อพิพาททางกฎหมายที่เขย่าวงการธุรกิจเมืองไทย ระหว่าง “เนสท์เล่” บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ระดับโลก เจ้าของแบรนด์ “เนสกาแฟ” กับตระกูล “มหากิจศิริ” ซึ่งก่อตั้งบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) เพื่อผลิตกาแฟ ตั้งแต่ปี 2533

ต่อมาเนสท์เล่ได้แจ้งยุติสัญญาการให้สิทธิ QCP ผลิตเนสกาแฟในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2564 และมีผลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ภายหลังการยุติสัญญา ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองฝ่าย ตกลงเรื่องการดำเนินงานในอนาคตของ QCP ไม่ได้

นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ หนึ่งในผู้ถือหุ้นในบริษัท QCP ได้ฟ้องศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และศาลแพ่งมีนบุรีได้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามเนสท์เล่ ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา

ADVERTISMENT

เนสท์เล่ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี เพื่อขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อขอศาลเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบจากการห้ามเจ้าของแบรนด์และผู้ผลิต ทำการผลิตและจำหน่ายเนสกาแฟจำนวนมาก ทั้งเกษตรกร ซัพพลายเออร์ โรงงานผลิตสินค้าอื่นที่เกี่ยวเนื่อง เช่น กระป๋อง บรรจุภัณฑ์อื่นๆ ในวันที่ 11 เมษายน 2568

ขณะที่ทนายฝ่ายโจทก์ยื่นคัดค้าน ศาลจึงนัดไต่สวนฉุกเฉินในวันที่ 17 เมษายน 2568 เวลา 9.00 น. เพื่อพิจารณาว่าจะเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของเนสทเล่หรือไม่

ADVERTISMENT

ล่าสุดในวันที่ 12 เมษายน 2568 “เนสท์เล่” ได้ทำหนังสือลงนามโดย น.ส.เครือวัลย์ วรุณไพจิตร ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจ เนสท์เล่ โพรเฟชชันนัล ประเทศไทย ส่งหนังสือไปยังพันธมิตรทางการค้า เพื่อแจ้งความคืบหน้าล่าสุดถึงสถานการณ์ของธุรกิจเนสกาแฟ โดยระบุว่า

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีคำสั่งชี้ขาดให้เนสท์เล่เป็นผู้ถือสิทธิ์เครื่องหมายการค้า “Nescafe” และ “เนสกาแฟ” แต่เพียงผู้เดียวในประเทศ ทำให้ “เนสท์เล่” สามารถกลับมาจำหน่ายเนสกาแฟ ได้ตามปกติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image