ผู้เขียน | ทีมข่าวเศรษฐกิจ |
---|
ตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2566 ดัชนีปรับลดลงต่ำกว่าระดับ 1,500 จุด จากที่ทยอยไต่ระดับกลับขึ้นไปสู่จุดสูงสุดเดิมก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 เมื่อปี 2562 ดัชนีทำจุดสูงสุดในช่วงนั้นที่ 1,589.34 จุด แต่เมื่อเกิดโรคระบาดที่ทำให้เศรษฐกิจชะงักงันตามการเดินทางระหว่างประเทศและในประเทศที่หยุดชะงักไป ดัชนีจึงตกลงมาทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 969.08 จุดในเดือนมีนาคม 2563 เพราะมีการปรับลดลงต่อวันเป็นร้อยจุดแบบที่ไม่ได้เห็นในรอบเป็นสิบปี
ย้อนรอยวิกฤตที่รุนแรงจนเห็นดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงอย่างหนักหน่วงครั้งก่อนหน้าเกิดโควิดระบาด ได้แก่ วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า วิกฤตยูโรโซน เมื่อปี 2552 เกิดในสหภาพยุโรป เริ่มก่อตัวจากกลุ่มประเทศยุโรปใต้ (PIIGS) คือ กรีซ โปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ และสเปน ดำเนินเศรษฐกิจล้มเหลว บางประเทศใช้นโยบายประชานิยม ก่อหนี้สาธารณะจำนวนมากเกินที่จะชำระได้ จึงฉุดให้ประเทศต่างๆ ในกลุ่มยูโรโซนแย่ไปตามกัน ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาตลาดการเงินก้าวหน้าจนสามารถใช้เงินตราสกุลเดียวกันก็หนีไม่พ้นวิกฤต ทำให้ดัชนีหุ้นไทยขณะนั้นปรับลดลงเหลือเพียง 401.81 จุดเท่านั้น เพราะประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่ดี อีกทั้งยังมีวิกฤตการเมืองในประเทศที่ส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจโดยตรง
จากนั้นดัชนีใช้เวลาถึง 3 ปีค่อยๆ ไต่ขึ้นยืนเหนือระดับ 1,100 จุดได้ จากที่เคยวิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดถึงระดับ 1,682.85 จุดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2536 ก่อนจะเจอผลกระทบจากวิกฤตยูโรโซนที่ยังไม่จบลง เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในส่วนของหนี้สาธารณะในยุโรป อีกทั้งยังเจอกับการเปลี่ยนผู้นำในประเทศมหาอำนาจ ความอลหม่านวุ่นวายทางการเมืองในตะวันออกกลาง ตลอดจนภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหนักจนเป็นชนวนให้เกิดการลุกฮือประท้วงตามที่ต่างๆ ทั่วโลก ดัชนีหุ้นจึงปรับลดลงมาอยู่ในระดับ 916.21 จุด ก่อนจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น
⦁หุ้นไทยดิ่งต่ำสุดรอบ5ปี
เมื่อช่วงปี 2563 ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะโรคระบาดทำให้ดัชนีทิ้งดิ่งลงมาปิดตลาดที่ระดับ 1,194.95 จุด ถือว่าเป็นระดับที่ถูกวิกฤตด้านสาธารณสุข ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์อย่างยาวนานแล้ว แต่หุ้นไทยในขณะนี้ ดัชนีเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา กลับวิ่งลงไปแตะระดับ 1,074.59 จุด ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีนับตั้งแต่โควิด แถมยังมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวลงต่อด้วย เนื่องจากหุ้นไทยมีปัญหาเฉพาะตัวในด้านโครงสร้าง ความเชื่อมั่นที่หายไปพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ตามศักยภาพที่มี สะท้อนจากที่รัฐบาลตั้งเป้าการเติบโตของตัวเลขจีดีพีไทยอยู่ประมาณ 5% แต่ปี 2567 จีดีพีไทยทำได้เพียง 2.5% ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดในอาเซียน
หุ้นไทยจึงมีอาการน่าเป็นห่วงจากการซึมตัวลงแบบไร้สัญญาณว่าจะหยุดลงที่ตรงไหน แต่พอผ่านความวัวยังไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรกอีกครั้ง เพราะเพียงผ่านไตรมาส 1/2568 (มกราคม-มีนาคม) เข้าสู่เดือนเมษายนได้เพียงไม่กี่วันเท่านั้น นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศไทยเพิ่มในอัตรา 36% รวมถึงอีกหลายประเทศที่ถูกเก็บในอัตราสูงลิ่วเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศจีน ถือเป็นการเริ่มต้นสงครามการค้าผ่านการกีดกันทางการค้าอย่างเข้มข้น แม้จากนั้นแค่หนึ่งวัน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ยูเทิร์นประกาศ โดยชะลอการเก็บภาษีในอัตราใหม่ออกไป 90 วันและเน้นเปิดทางเจรจาการค้ากับประเทศเหล่านี้ได้ โดยพุ่งเป้าไปปรับเพิ่มภาษีสินค้าจีนเป็น 125% แต่ก็ประกาศเปลี่ยนแปลงอีก แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เกือบทุกประเทศกว่า 75 ประเทศ แสดงความจำนงและติดต่อเจ้าหน้าที่สหรัฐเพื่อเปิดการเจรจา ควบคู่กับวันนี้ทั่วโลกงงไปกับแนวคิดของนายทรัมป์ที่ต้องการลดการขาดดุลการค้าผ่านนโยบายต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้า ทำให้ทุกฝ่ายมองว่าสงครามการค้าครั้งนี้จะไม่จบลงง่ายๆ และไม่น่าจะชัดเจนได้ในไตรมาส 2 ของปีนี้
เมื่อการค้าโลกเปลี่ยนย่อมส่งผลไปถึงภาคลงทุนและภาวะเศรษฐกิจจะผันแปรตาม หากมั่นใจเศรษฐกิจอนาคตจะดี การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ก็จะดีตาม แต่หากมองว่าเศรษฐกิจไม่ดี สินทรัพย์ต่างๆ จะตอบรับในเชิงลบล่วงหน้าไปก่อนเลย โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น
แล้วทิศทางจากนี้จะเป็นอย่างไร!!
⦁แรงขายหนีตายกดทางวิ่ง
ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่า ต่อให้ไม่มีการปรับขึ้นภาษีสหรัฐ หุ้นไทยก็มีความอ่อนแอมากอยู่แล้ว โอกาสในการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนต่ำกว่าระดับ 1,100 จุดมีสูงมากอยู่แล้ว ทำให้เมื่อต้องเผชิญกับความเสี่ยงการขึ้นภาษีจากสหรัฐยิ่งกดดันดัชนีหุ้นไทยจนปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับลดลงไปได้มากกว่านี้อีก สาเหตุหลักๆ มาจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงร้อนแรงและอาจมีมาตรการตอบโต้เพิ่มเติม ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นในภูมิภาค รวมถึงตลาดหุ้นไทย แต่โอกาสที่ดัชนีจะหลุดระดับ 1,000 จุด หรือลงลึกมากกว่านั้นในรอบนี้ยังมีน้อย เนื่องจากสังเกตเห็นสัญญาณบวกบ้างแล้ว ทำให้โอกาสที่หุ้นไทยจะฟื้นตัวยังคงมีอยู่
แม้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ยังไม่กลับเข้ามาซื้อสุทธิในหุ้นไทย แต่เริ่มเห็นแรงขายต่างชาติที่เบาลงบ้างแล้ว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า แรงขายของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยดูเหมือนจะลดความรุนแรงลง ไม่ได้หนักเหมือนเดิม ซึ่งฟันด์โฟลว์ที่หายไปจากตลาดหุ้นไทยชะลอตัวลงจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ดัชนีไม่ปรับตัวลงลึก รวมถึงเห็นมาตรการพยุงตลาดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เช่น การห้าม Short Sell ชั่วคราว และการปรับเกณฑ์ Dynamic Price Band ให้แคบลง บวกหรือลบไม่เกิน 5% ถือว่ามีส่วนช่วยลดความผันผวนและประคองตลาดไม่ให้ปรับตัวลงรุนแรงเกินไป
“ความเสี่ยงของตลาดหุ้นไทยเป็นเรื่องการขึ้นภาษีของสหรัฐ เพราะเป้าหมายของทรัมป์ไม่ได้แค่ต้องการให้ดุลการค้าขาดดุลน้อยลง หรือเกินดุลการค้ากับสหรัฐเท่านั้น แต่ต้องการเริ่มต้นระบบโครงสร้างการค้าและการลงทุนใหม่ทั้งหมด ภาพจึงไม่ได้ดีไปกว่าเดิมแน่ๆ มีแต่แย่มาก หรือแย่ไม่มากเท่าไหร่นัก ทำให้ขณะนี้ความหวังเดียวที่ต้องติดตามว่าจะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยมากน้อยขนาดไหน มีเพียงการเจรจาร่วมกับสหรัฐของคณะเจรจาไทยเท่านั้นว่าสุดท้ายจะโดนเก็บที่ 36% หรือไม่ แต่คาดหวังว่าไทยจะโดนภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐที่ 15% ซึ่งหากเก็บที่ระดับนี้ตลาดหุ้นที่ลงมาตอบรับอัตราการเก็บ 36% เยอะแล้วอาจดีดตัวขึ้น (รีบาวด์) ได้ ขณะนี้มองว่ายังไม่ใช่เวลาซื้อหุ้นไทย แม้ระดับดัชนีจะลงมาต่ำแล้วก็ตาม”
⦁หั่นเป้าเซ่นปัจจัยเสี่ยง
ณัฐพล คำถาเครือ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันเริ่มเห็นอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจดูไม่ดีนัก ทำให้คาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกค่อนข้างแน่ เพราะผลกระทบการเก็บภาษีจากสหรัฐต่อเศรษฐกิจจริงจะขึ้นอยู่กับการเจรจา แต่ในเบื้องต้นประเมินผลกระทบการเติบโตของจีดีพีไทยจะปรับตัวลดลง 1-1.5% จากที่ประมาณการจีดีพีปี 2568 คาดโตได้ 3% อาจเหลือโต 1.5-2% ถือว่าผลกระทบรอบนี้ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยมีแผนรับมือ โดยจะผ่อนปรนเรื่องการนำเข้าสินค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้น น่าจะช่วยลดภาระภาษีลงมาได้ แต่เมื่อจีดีพีโตลดลง เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลต่อหุ้นไทยโดยตรง จึงปรับลดคาดการณ์หุ้นไทยสูงสุดเหลือ 1,275 จุดเท่านั้น
รวมถึงปรับประมาณการกำไรต่อหุ้น (อีพีเอส) ของตลาดปี 2568 ลงเหลือ 91 บาทต่อหุ้น จากเดิม 95 บาทต่อหุ้น โดยบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่งออกสินค้าเกษตร และชิ้นส่วนยานยนต์ จะโดนผลกระทบหนักสุด โดยเซ็กเตอร์เหล่านี้มีสัดส่วนประมาณ 20% ของมาร์เก็ตแคป (มูลค่ารวม) ทั้งตลาด โดยประเมินแนวโน้มการเจรจาเพื่อลดผลกระทบของภาครัฐ แบ่งเป็น 2 กรณีคือ หากนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวโพด, ถั่วเหลือง) เข้ามามากขึ้น จะเป็นบวกต่อแนวโน้มต้นทุนที่มีราคาถูกลง หากนำเข้าชิ้นส่วนเนื้อสัตว์เข้ามาจะกระทบปริมาณซัพพลายเนื้อสัตว์ และอาจกระทบราคาขายเฉลี่ยในประเทศทั้งไทยและเวียดนาม
“หุ้นอื่นๆ ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ถูกกระทบ อาทิ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์มองเป็นลบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยจากการส่งออกไปสหรัฐที่ยากขึ้น ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม ได้แก่ การที่สินค้าจีนที่ส่งออกไปยังสหรัฐยากขึ้น มีโอกาสทะลักเข้าประเทศไทยเพื่อระบายสินค้า อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยที่ไม่อาจสามารถแข่งขันได้ในเรื่องของต้นทุนการผลิต อาจมีแรงกดดันด้านต้นทุนจากค่ายญี่ปุ่น โดยลำดับถัดไปต้องจับตาการเจรจาระหว่างไทยและสหรัฐ เพราะมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นมากที่สุด”
⦁กูรูมองภาพลบหมด
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP เผยผลวิเคราะห์ว่า ตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายหุ้นสูงสุดลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุดซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน โดยระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด อาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ (policy panic) แบบเร่งด่วนมากที่สุด
ตลาดหุ้นถูกปัจจัยมหภาคกดดันต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจไทยหากไม่นับภาคการท่องเที่ยว ต้องบอกว่าอยู่ในภาวะถดถอยติดต่อกัน 9 ไตรมาสติดแล้ว ทั้งอีพีเอสและจีดีพีไทย ยังโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตระยะยาวตั้งแต่ช่วงโควิด นโยบายการเงินที่ตึงตัวและประสิทธิผลของนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลดลง เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยหลัก ทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่มีผลตอบแทนแย่ลงในปี 2568 ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยภายในมากกว่าปัจจัยภายนอกอย่างเรื่องแรงกดดันด้านภาษีศุลกากรเหมือนที่ประเทศอื่นๆ อาทิ จีน แคนาดา สหภาพยุโรป และเวียดนาม กำลังได้รับผลกระทบ จึงประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยอาจร่วงไปที่ 1,000 จุด จากความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ (growth shock) ในไตรมาส 2/2568 อาทิ การท่องเที่ยวที่อ่อนแอ การส่งออกที่ถูกท้าทายจากแรงกดดันจากมาตรการภาษี ภาคการบริโภคที่อ่อนแอ และการลงทุนที่ซบเซา
ขณะที่แรงหนุนเดียวที่อาจช่วยพยุงตลาดได้คือ การที่นักลงทุนกลับเข้าซื้อเมื่อมูลค่าตลาด (valuation) อยู่ในระดับที่ถูกเกินไปหากเทียบกับมูลค่าพื้นฐานซึ่งประเมินว่าอยู่ที่ระดับ P/E 10-11 เท่า หรือที่ดัชนี 1,000 จุด หรือการที่ผู้กำหนดนโยบายออกมาตรการกระตุ้นอย่างเร่งด่วนและเร็วกว่าที่คาด การผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งครึ่งแรกปีนี้จะมีการประชุมอีก 2 ครั้ง คือวันที่ 30 เมษายน และ 25 มิถุนายนนั้น อาจช่วยให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรขยายตัว (yield curve steepening) และหนุนดัชนีหุ้นได้บ้าง