ศก.ไทยปี’68 ต้นร้าย… หวังปลายดี จีดีพีมากกว่า3%

ปี 2568 เป็นอีกปีที่มีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะได้ลืมตาอ้าปาก กลับมาเติบโตในระดับศักยภาพ คือจีดีพี 3% ต่อปี และรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็กำหนดเป้าหมายที่ท้าทายเพิ่มอีกว่า จะดันจีดีพีให้ได้ถึง 3.5%

กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีโอกาสขยายตัวได้ถึง 3.5% หากเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินของนโยบายต่างๆ ดังนี้

1.การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2568 โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน ที่ตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายเพิ่มจากปกติที่ 75% เป็น 80% มีผลให้จีดีพีขยายเพิ่มอีก 0.11% 2.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายของประชาชนภายใต้โครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท เฟส 3 ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มีผลให้จีดีพีขยายได้ 0.1% 3.การเร่งรัดการลงทุนในโครงการบ้านเพื่อคนไทยเพื่อให้เกิดการลงทุนตามแผนงาน ที่ในปี 2568 จะลงทุน 870 ล้านบาท คาดว่าจะมีผลต่อจีดีพี 0.002%

4.การกระตุ้นการท่องเที่ยวในภาพรวม และช่วงเจ้าภาพการแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ช่วงปลายปี 2568 ถ้าสามารถเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่ม 5 แสนคน ก็จะส่งผลให้จีดีพีขยายตัวอีก 0.15% และ 5.การเร่งรัดโครงการการลงทุนของภาคเอกชนหลังได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนแล้ว ให้เกิดเม็ดเงินลงทุนจริง ราว 7.5 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้กระตุ้นจีดีพีขยายตัวได้อีก 0.19%

ADVERTISMENT

แต่ขณะนี้ยังไม่ทันผ่านพ้นครึ่งแรกของปี เศรษฐกิจไทยกลับต้องเจอกับอุปสรรครอบด้าน และทั้งจากในและนอกประเทศ

เริ่มจากต้นเดือนมกราคม หรือหลังพ้นปีใหม่ ก็มีคดีใหญ่ คือการหายตัวไปของนักแสดงชาวจีน 2 ราย ที่ชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งเกี่ยวพันกับเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่หลอกลวงชาวจีนมาทำงาน ทำให้ทางการของจีนออกมาร่วมมือกับไทยจัดการปัญหานี้โดยตรง คาดว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มมิจฉาชีพหลอกดูดเงินคนไทยที่กำลังระบาดในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน

ADVERTISMENT

ต่อมาปลายวันที่ 28 มีนาคม จากอุบัติภัย แผ่นดินไหวที่มัณฑะเลย์ เมียนมาครั้งใหญ่ ที่สะเทือนรุนแรงมาถึงใจกลางกรุงเทพมหานคร แม้ว่าห่างเป็นพันกิโลเมตร แต่คนบนตึกสูงยังสัมผัสได้ และเกิดเหตุสลด คืออาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ หรือตึก สตง.ถล่ม ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาคอสังหาริมทรัพย์

อีกเหตุการณ์ใหญ่ คือ เมื่อวันที่ 2 เมษายน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศนโยบายปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจากทุกประเทศทั่วโลก ที่สะเทือนเศรษฐกิจโลก และการส่งออกที่เป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย

•ส่งออกไทยพาดเขียงทรัมป์2.0

สำหรับภาคส่งออกไทยนั้นยังคงโลดแล่นต่อเนื่อง แม้จะมีความกังวลจากผลการเลือกตั้งสหรัฐ ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง ซึ่งทั่วโลกหวั่นไหวอีกครั้งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเก้าอี้ยังไม่ทันร้อน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมุ่ง “ลดขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้า” ผ่านนโยบายปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก ทั้งแบบพื้นฐานอัตราเดียวกันทุกประเทศ และแบบอัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) จะเรียกว่าเป็นภาษีตอบโต้ ที่ต่างถูกเก็บในอัตราแตกต่างกันไป ขึ้นกับดุลพินิจที่สหรัฐจะนำมาประกอบการพิจารณา ซึ่งไทยติดอันดับ 12 ขึ้นมาเป็นอันดับ 10 ของประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐด้วยมูลค่า 4.15 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ จึงประกาศถูกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทย 36%

แม้ในเวลาต่อมา นายทรัมป์สั่งชะลอไปก่อน 90 วัน พร้อมเปิดเจรจารายประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนสินค้านำเข้าและส่งออกบางส่วน ซึ่งหลังหยุดยาวสงกรานต์ก็จะเห็นแอ๊กชั่นของทีมรัฐบาลไทยต่อการเยือนสหรัฐครั้งแรก ในเดือนเมษายนนี้

ย้อนดูสถิติการส่งออกของไทย พบว่าตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา มีการเติบโตต่อเนื่องและอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 11.8% ต่อเดือน ดังนี้ เดือนตุลาคม 2567 ขยายตัว 14.6% พฤศจิกายน 2567 ขยายตัว 8.2% ธันวาคม 2567 ขยายตัว 8.7% มกราคม 2568 ขยายตัว 13.6% และกุมภาพันธ์ 2568 ขยายตัว 14%

ตัวเลขอย่างเป็นทางการ 2 เดือนแรกปี 2568 เดือนแรกมกราคม ส่งออกมีมูลค่า 2.52 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (862,367 ล้านบาท) ขยายตัว 13.6% หักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ยังขยายตัว 11.4% โดยได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจของประเทศคู่คู่ค้าสำคัญที่ไทยส่งออก อาทิ สหรัฐและจีน เติบโตต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อปรับตัวกลับสู่กรอบเป้าหมาย และการขยายตัวของกิจกรรมภาคการผลิต ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าทุนและวัตถุดิบไทย ทั้งที่อยู่ในท่ามกลางความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐ อาจสร้างแรงกดดันต่อการค้าโลก แต่ไทยก็ขาดดุลกับโลก

ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่า 2.67 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 14% ไทยกลับมาเกินดุลการค้าอีกครั้งที่ 1,988 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้การส่งออก 2 เดือนแรกมีมูลค่า 5.19 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.8% และไทยเกินดุลการค้า 108 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนตัวเลขส่งออกเดือนมีนาคม จะมีการแถลงในปลายเดือนเมษายนนี้ หากเทียบกับส่งออก 3 เดือนแรกปีก่อน มีมูลค่ารวม 7.09 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หักกับ 2 เดือนแรกปีนี้ มีส่วนต่างที่ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าการส่งออกเดือนมีนาคมจะได้แค่นั้น และมีโอกาสสูงที่เดือนมีนาคมปีนี้ส่งออกยังเป็นบวก เพราะค่าเฉลี่ยส่งออกของไทยต่ำสุดที่ 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อมองเลยไปถึงเดือนเมษายน หลายฝ่ายมองว่าตัวเลขจะดี แรงหนุนจากความลังเลของทรัมป์ต่อการกำหนดภาษีนำเข้าว่าจะเท่าไหร่แน่ ระหว่างกลับไปคาดการณ์ไว้ 20% หรือ 36% ตามที่ได้ประกาศไว้ ซึ่งผลจะเห็นได้ชัดเจนในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ ที่เริ่มนำเข้าสินค้าล็อตใหม่ที่เป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้าหลังเดือนเมษายน

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าทรัมป์จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทยเท่าไหร่ การส่งออกไทยก็เจอปัญหาขายได้ยากขึ้น จากราคาขายในสหรัฐที่ต้องตั้งแพงขึ้น ทำให้ค้าขายในสหรัฐอาจไม่คล่องเหมือนเดิม และการสั่งนำเข้าสินค้าไทยจะลดลงเรื่อยๆ ยังไม่รวมผลกระทบทางอ้อม เจอประเทศส่งออกทั่วโลกชิงตลาดสหรัฐ ซึ่งก็ประเมินกันไว้ว่า เรื่องปรับภาษีนำเข้าของสหรัฐต่อสินค้าไทยครั้งแรก ขั้นต่ำ 1-1.5 แสนล้านบาท และอาจถึง 1 ล้านล้านบาท หากทรัมป์ยืนยันขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทยแตะ 36% บวกกับการถูกแย่งชิงตลาดสหรัฐ

ดังนั้นต้องเอาใจช่วย กระทรวงพาณิชย์ ที่ยังยืนหยัด เป้าส่งออกทั้งปี 2568 บวก 2-3% หรือทำมูลค่าส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 2.55-2.57 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ทั้งปีมูลค่าทะลุ 3.07 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับส่งออกไทยทำนิวไฮอีกครั้ง จากปี 2567 ทำมูลค่าได้เกิน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

•ทองนิวไฮทะลุ5หมื่น

ขณะที่ด้านการลงทุน และตลาดหุ้นปี 2568 ก็ปั่นป่วนไม่น้อย โดยเริ่มจากเรื่องดีๆ คือ เรื่องทอง นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าคงไม่มีใครคาดฝันว่าจะได้เห็นราคาทองคำไทยปรับขึ้นยืนเหนือระดับ 5 หมื่นบาทต่อบาททองคำได้ และเหมือนยังไม่พอใจ เพราะราคาทองคำไทยวิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดถึง 51,250 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งถือเป็นราคาที่สูงที่สุดในประวัติการณ์ รวมถึงยังมีแนวโน้มในการวิ่งขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่แบบซ้ำๆ เนื่องจากขณะนี้ มีปัจจัยสนับสนุนให้ราคาทองคำปรับขึ้นต่อได้ ถือเป็นขาขึ้นแบบตะโกน

ปัจจัยหลักที่ส่งเสริมให้ราคาทองคำโลกวิ่งขึ้นแรงๆ และดึงทองคำไทยขึ้นตามเป็นเรื่องการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก และไทยเป็นหนึ่งในนั้น ถือเป็นปัจจัยที่มีผลต่อราคาทองคำหลักๆ ทำให้ทั้งนักวิเคราะห์และนักเศรษฐกิจมองว่า ราคาทองคำไทยปี 2568 ถือว่าเป็นขาขึ้นแบบทั้งปี

โดย นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก จำกัด ระบุ แนวโน้มราคาทองคำยังคงเป็นขาขึ้นในระยะกลางและระยะยาว เนื่องจากผลกระทบจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยมีเป้าหมายราคาทองคำโลกปลายปี 2568 อาจแตะ 3,500 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ หรือสูงกว่านั้นได้อีก ส่วนทองคำไทยมีโอกาสได้เห็นการวิ่งขึ้นไปถึง 54,500 บาทต่อบาททองคำ จากที่เห็นการปรับขึ้นทำสถิติสูงสุดอย่างต่อเนื่องแล้วในช่วงที่ผ่านมา

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำหลักๆ ได้แก่ การปรับขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว นักลงทุนจึงหันมาถือทองคำมากขึ้น แต่หากมีการเปลี่ยนแปลง สหรัฐยอมถอยขึ้นภาษีในอัตราที่ลดลง หรือสามารถเจรจาตกลงกันได้ ราคาทองคำจะอ่อนตัวลงมาทันที

นักลงทุนจึงต้องจับจังหวะการลงทุนให้ถูกต้อง มีการแบ่งซื้อและแบ่งขาย เพื่อให้มีกำไรออกมาก่อน และมีของถือในมือ เนื่องจากราคาทองคำถือว่ามีความผันผวนมาก เหมือนอย่างที่สหรัฐประกาศเลื่อนเก็บภาษีรอบใหม่ไป 90 วัน ทำให้ทองคำไทยปรับเปลี่ยนราคารวมกว่า 27 ครั้ง ซึ่งหากเกิดภาพแบบนี้นักลงทุนควรทยอยเก็บกำไรไปเรื่อยๆ เหมือนนักมวยที่เก็บคะแนนผ่านหมัดต่อหมัด อย่าคิดว่าจะต่อยหมัดเดียวแล้วชนะน็อกได้เลย แบบนี้ไม่ง่ายแน่นอน ต้องอาศัยวิธีบริหารความเสี่ยงในการสะสมของและเก็บเงินเข้าพอร์ตลงทุน โดยทองคำยังคงมีความต้องการซื้อเพื่อป้องกันความเสี่ยง เนื่องจากถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย หรือหลุมหลบภัยภาคการเงินในภาวะความเสี่ยงที่มีมากมายในปัจจุบัน

•หุ้นไทยสาหัสสุดรอบ5ปี

ด้านสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้นไทย ย้อนไปเมื่อช่วงปี 2563 ที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะโรคระบาด ทำให้ดัชนีทิ้งดิ่งลงมาปิดตลาดที่ระดับ 1,194.95 จุด แต่ในระหว่างทางปรับลดลงมากจนเหลือเพียง 969.08 จุดในเดือนมีนาคม 2563 เพราะมีการปรับลดลงต่อวันเป็นร้อยจุดแบบที่ไม่ได้เห็นในรอบเป็นสิบปี แต่หุ้นไทยในขณะนี้ ดัชนีเมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา กลับวิ่งลงไปแตะระดับ 1,074.59 จุด ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีนับตั้งแต่โควิด แถมยังมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวลงต่อด้วย

เนื่องจากหุ้นไทยมีปัญหาเฉพาะตัวในด้านโครงสร้าง ความเชื่อมั่นที่หายไปพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ตามศักยภาพที่มี สะท้อนจากที่รัฐบาลตั้งเป้าการเติบโตของตัวเลข
จีดีพีไทยอยู่ประมาณ 5% แต่ปี 2567 จีดีพีไทยทำได้เพียง 2.5% ถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดในอาเซียน

หุ้นไทยจึงมีอาการน่าเป็นห่วง เพราะการซึมตัวลงแบบไร้สัญญาณว่าจะหยุดลงที่ตรงไหน แต่ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรกอีกครั้ง เนื่องจากเพียงผ่านไตรมาส 1/2568 (มกราคม-มีนาคม) เข้าสู่เดือนเมษายนได้เพียงไม่กี่วันเท่านั้น สหรัฐก็ประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยในอัตราสูงถึง 36% สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก ที่ถูกตั้งกำแพงภาษีในอัตราที่สูงลิ่วไม่ต่างกัน หุ้นไทยจึงตอบรับปัจจัยลบด้วยการกระโดดทิ้งตัวลงแบบไม่ลดความเร็ว ทำให้เห็นดัชนีลดลงเป็นร้อยจุดภายในไม่กี่สัปดาห์ โดยหากนับตั้งแต่ต้นปี 2568 ถึงปัจจุบัน หุ้นไทยให้ผลตอบแทนลดลงกว่า 19.39% ถือเป็นประเทศรั้งท้ายในอาเซียนอย่างน่าเสียดายศักยภาพที่มีอยู่

โดย นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ กล่าวว่า ต่อให้ไม่มีการปรับขึ้นภาษีสหรัฐ หุ้นไทยก็มีความอ่อนแอมากอยู่แล้ว โอกาสในการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนต่ำกว่าระดับ 1,100 จุดมีสูงมากอยู่แล้ว ทำให้เมื่อต้องเผชิญกับความเสี่ยงการขึ้นภาษีจากสหรัฐ ก็ยิ่งกดดันดัชนีหุ้นไทยจนปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับลดลงไปได้มากกว่านี้อีก

สาเหตุหลักๆ มาจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่ยังคงร้อนแรงและอาจมีมาตรการตอบโต้เพิ่มเติม ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้น
ในภูมิภาค รวมถึงตลาดหุ้นไทย แต่โอกาสที่ดัชนีจะหลุดระดับ 1,000 จุด หรือลงลึกมากกว่านั้นในรอบนี้ยังมีน้อย เนื่องจากสังเกตเห็นสัญญาณบวกบ้างแล้ว ทำให้โอกาสที่หุ้นไทยจะฟื้นตัวยังคงมีอยู่

แม้เศรษฐกิจไทยต้นปี 2568 จะขลุกขลัก เจอเรื่องร้ายๆ มา แต่หวังว่าช่วงที่เหลือต่อไปนี้ จะเห็นสัญญาณดีๆ ให้เห็นไทยผงาดได้เกิน 3%

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image