พยากรณ์ ศก.ไทยครึ่งหลังปี’68 โจทย์หลักรัฐบาล ‘เสถียรภาพ’ ต้องมา- ‘เชื่อมั่น’ ต้องมี

ศก.ไทย

ด้วยเป้าหมายเศรษฐกิจไทยปี 2568 ภายใต้การบริหารของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำหนดไว้ที่ 3.5% ภายใต้ 3 เครื่องจักรสำคัญคือ 1.การลงทุน 2.การส่งออก 3.การท่องเที่ยว

ขณะที่ภาคเอกชนหลายส่วนประเมินต่ำกว่า 3.5%

ล่าสุดจาก 2 เหตุการณ์ร้อน ทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวและภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐอเมริกา ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม จนหลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าปัจจัยเหล่านี้จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยหลุดเป้า หรือเข้าขั้นทรุดเลยหรือไม่

“มติชน” สอบถามนักเศรษฐศาสตร์และเอกชนชั้นนำของไทยเพื่อพยากรณ์เศรษฐกิจไทยนับจากนี้ ตลอดจนข้อเสนอแนะเพื่อเป็นอีกพลังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังปี 2568

ADVERTISMENT

⦁นักเศรษฐศาสตร์ห่วง 2 ปัญหารวมกันกดจีดีพี 68
นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุ จากผลกระทบทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 และจากสงครามการค้าการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกาที่ได้ประกาศว่าจะบังคับใช้ภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) แน่นอนว่าจะส่งผลต่อตัวเลขจีดีพีของเศรษฐกิจไทยในปลายปี 2568 มากพอสมควร

เริ่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แม้ช่วงเปิดปี 2568 จะมีแนวโน้มไปทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้มีการออกนโยบายมาช่วย แต่พอเกิดเหตุการณ์ภัยธรรมชาติตรงนี้ขึ้น ก็ส่งผลทำให้ผู้ซื้ออาจจะชะงักการลงทุนซื้ออสังหาพอสมควร รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและการบริการก็ได้รับผลกระทบและอาจจะชะลอตัว

ADVERTISMENT

ฉะนั้น เหตุการณ์นี้จึงเป็นปัจจัยที่อาจจะทำให้ตัวเลขจีดีพีของประเทศไทยในปลายปีและภาพรวมทั้งปี 2568 ไม่สามารถขยายตัวได้เท่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2.8-3.5%

นอกจากนี้ นายสมภพระบุว่า ประเทศไทยยังต้องประสบกับปัญหาสงครามภาษีของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งปัจจัยนี้ถือเป็นปัจจัยที่ร้ายแรงต่อเศรษฐกิจมากกว่าภัยธรรมชาติ เพราะประเทศไทยเคยมียอดส่งออกถึงปีละ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 60% ของจีดีพี และประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาทางการค้าและส่งออกกับต่างประเทศมาก

ดังนั้นพอประเทศไทยต้องมาเจอกับการถูกขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐถึง 36% และลำพังการขึ้นภาษีนำเข้าแบบฐานขั้นต่ำก็กระทบหนักอยู่แล้ว และประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้ประกอบการ เน้นการผลิตแบบ OEM หรือการผลิตในรูปแบบที่โรงงานรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่างๆ ตามความต้องการค่อนข้างเยอะ ฉะนั้นก็อาจจะกระทบเข้าเนื้อพอสมควร

“เมื่อ 2 ปัจจัยที่เป็นปัญหานี้รวมกัน ก็จะส่งผลกระทบต่อตัวเลขจีดีพีในช่วงปลายปี 2568 แน่นอน แต่ตัวเลขจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ก็อยู่ที่การบริหารจัดการของภาครัฐ” นายสมภพระบุ

นายสมภพระบุอีกว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์ไม่เพียงจะกระทบต่อตัวเลขจีดีพีช่วงปลายปีเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนไทยเช่นกัน ที่อาจจะมีแววชะลอตัวลง ก่อนหน้านี้เคยมีนโยบาย China Plus One หรือเรียกอีกอย่างว่า Plus One หรือ C+1 เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อหลีกเลี่ยงการลงทุนในประเทศจีนเพียงอย่างเดียวและกระจายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ หรือเพื่อนำการลงทุนไปสู่การผลิตในเศรษฐกิจกำลังพัฒนาที่มีแนวโน้มดีอื่น

แต่ในปี 2568 ประเทศแถบอาเซียนถูกขึ้นภาษีกันถ้วนหน้า อาทิ ประเทศเวียดนาม โดนปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐถึง 46% ดังนั้นทำให้การย้ายฐานการลงทุนก็ค่อนข้างยาก

คาดว่ายอดการขอลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ อาจจะลดลงเช่นกัน แม้ว่าปีที่ผ่านมายอดการขอลงทุนบีโอไอจากต่างชาติค่อนข้างเยอะมาก แต่ผลกระทบจากสงครามภาษีครั้งนี้ก็อาจจะส่งผลกระทบทำให้ยอดการขอชะลอลง รวมถึงการค้าและการส่งออกที่อาจจะชะลอลงเช่นกัน ฉะนั้น หากจะบอกว่าไม่กระทบต่อจีดีพีเลยนั้น เป็นไปไม่ได้

นายสมภพระบุ สำหรับข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลในการรับมือหลังจากนี้ มองว่า หลังจากนี้ แทนที่รัฐบาลจะไปตั้งเป้าหมายว่ายอดส่งออกตั้งขึ้นประมาณเท่านี้ หรือไปกำหนดว่าจีดีพีจะต้องเพิ่มขึ้นประมาณเท่าไหร่ กลับมองว่ารัฐบาลจะต้องหาทางรักษาเสถียรภาพในประเทศมากกว่าให้สำคัญกับการกระตุ้นการเติบโตด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งแต่ละวิธีไม่ใช่จะง่ายๆ ที่จะปรับเปลี่ยนประเทศ

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญอย่างแรก คือ ทำให้ทุกภาคส่วนไม่ขัดแย้งกัน เริ่มต้นจากภาคเศรษฐกิจก่อน เพราะการไปเจรจากับสหรัฐครั้งนี้ แน่นอนว่าจะต้องมีธุรกิจที่ได้และเสียเช่นกัน ซึ่งจะต้องหาทางรับมือและบริหารจัดการทุกภาคส่วนให้ดี

รวมถึงรัฐจะต้องหาทางฟื้นความเชื่อมั่นหลังแผ่นดินไหวให้กับประชาชนในประเทศและชาวต่างประเทศ ทั้งการประคองภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ให้ทรุดตัวไปมากกว่านี้ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นทางด้านการท่องเที่ยวและการบริการเช่นกัน

ทั้งนี้ ท่าทีของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสำนักผู้แทนแห่งชาติของสหรัฐมีสมาชิกอยู่ประมาณ 200 คน ปัจจุบันมีหลายประเทศเริ่มทำเรื่องขอเจรจาไปแล้ว ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดเผยไว้ก่อนหน้านี้ ประมาณ 130 ประเทศ ฉะนั้นกว่าที่สมาชิก 200 คนจะรับเรื่องเจรจาให้ครบทุกประเทศก็ค่อนข้างบริหารยากแล้ว

ดังนั้น จึงไม่อยากให้คาดหวังมากว่าประเทศไทยจะเจรจาสำเร็จได้ผลลุล่วงมีการเปลี่ยนแปลง 100% เพราะทางสหรัฐ แม้จะตอบรับนัดการเจรจา แต่ไม่ได้แปลว่า ทางสหรัฐจะตอบรับทุกข้อเสนอแนะที่ทางทีมเจรจาจากไทยจะนำไปเสนอ

ยกตัวอย่างประเทศเวียดนาม ที่ได้มีการไปเจรจามาแล้ว แต่ทางสหรัฐ ก็ยังไม่พอใจกับข้อเสนอจากทางเวียดนาม และได้ให้ข้อเสนอบางส่วนที่ต้องไปแก้ เช่น จะทำอย่างไรไม่ให้ส่งสินค้าเป็นทางผ่านของประเทศจีน ไม่พึ่งการลงทุนจากจีน เป็นต้น ดังนั้น ประเทศไทยก็จะต้องดูท่าทีและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่การเจรจายังคงเป็นสิ่งที่ต้องทำและจำเป็น

ขณะนี้ ประเทศคู่เจรจาถูกแบ่งออกเป็น 3 หมวดหมู่ คือ 1.ประเทศที่พร้อมวิ่งเข้าสู้ 2.ประเทศที่ยอมสยบให้กับสหรัฐ 3.ประเทศที่ติดตามสถานการณ์ดูชั้นเชิง

“หวังว่าประเทศไทยจะจัดอยู่ในหมวดกลุ่มสามที่คอยดูสถานการณ์และลาดเลาไม่ต้องรีบร้อนมากมาย เพราะขึ้นชื่อว่าสงครามการค้าก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดไม่สามารถคาดเดาได้” นายสมภพทิ้งท้าย

⦁เอกชนชี้ 3 เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ด้านภาคเอกชนอย่าง นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย ระบุ สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังของปี 2568 นั้นมีรูปแบบของการชะลอตัว

หากแยกเป็นเครื่องจักร ส่วนแรกคือภาคการส่งออกถือว่ายังมีแรงส่งอยู่ โดยช่วงไตรมาสแรก ปี 2568 ยังทำตัวเลขมูลค่าการส่งออกได้ค่อนข้างดี เนื่องจากประเทศต่างๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาเอง มีความกังวลกับการที่สหรัฐออกนโยบายปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก ทำให้มีการเร่งนำเข้าสินค้า เตรียมการก่อนถึงวันที่มีผลเรียกเก็บภาษีเพิ่ม

ทั้งนี้ แต่เดิมหลายภาคส่วนคาดว่าการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2568 จะชะลอตัวจากการที่สหรัฐได้ประกาศว่าจะบังคับใช้ภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) ในวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา แต่พอถึงเวลาจริงกลับมีการประกาศเลื่อนออกไปก่อน 90 วัน ดังนั้น ยังมีโอกาสที่ตัวเลขการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ยังมีการเร่งขยายตัวต่อเนื่องอีกครั้ง เพราะว่าความไม่แน่นอน ทำให้ผู้นำเข้าพยายามที่จะเร่งนำเข้าสินค้ามากขึ้น

ทั้งนี้ ความชัดเจนของทิศทางการส่งออกในครึ่งปีหลังขึ้นอยู่กับผลการเจรจาจะออกมาในรูปแบบใด เชื่อว่าประเทศต่างๆ ก็มีสินค้าคล้ายกันน่าจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราใกล้ๆ กัน เพราะฉะนั้นเรื่องการส่งออกไทยยังคงเดินหน้าต่อได้ แต่อาจจะไม่หวือหวา เพราะว่ามีแรงกดดันเรื่องภาษี แม้ว่าภาษีจะไม่ได้ขึ้นหนักๆ ทั้งหมด แต่ว่าภาพรวมอย่างน้อยที่สุด ขณะนี้ทุกประเทศก็โดนอัตราพื้นฐานที่ 10% ไปแล้ว

“ขณะที่ผลกระทบจริงจะอยู่ที่ผู้บริโภคในสหรัฐเป็นหลัก ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะสหรัฐ การใช้จ่ายของผู้บริโภคน่าจะลดลง ดังนั้นครึ่งปีแรกตัวเลขส่งออกน่าจะเดินต่อ ส่วนครึ่งปีหลังน่าจะเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด” นายวิศิษฐ์กล่าว

นายวิศิษฐ์ระบุ สำหรับเครื่องจักรเศรษฐกิจไทยตัวที่สอง คือ ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐเช่นกัน ที่ได้ส่งผลต่อความมั่นใจของผู้บริโภคทั่วโลกลดลง ขณะที่การท่องเที่ยวไทยในปีที่ผ่านมานั้นทำได้ดีมาก ทำให้ปีนี้มีความคาดหวังว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยเป้าหมายที่ 38 ล้านคนต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทาย

ทั้งนี้เรื่องของภาษีอาจจะไม่ได้กระทบทุกประเทศที่เป็นกลุ่มหลักของการท่องเที่ยวไทย ดังนั้นในประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบก็น่าจะยังเดินทางมาต่อเนื่อง แต่ว่าภาพของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อหัวจะลดลง เนื่องจากมีความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจระยะข้างหน้า

ส่วนทิศทางตัวเลขโดยรวมของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยปี 2568 จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ยังคงต้องรอลุ้น 2-3 เดือนข้างหน้านี้ว่าผลกระทบจากภาษีจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความกังวลมากน้อยแค่ไหน

นายวิศิษฐ์ระบุ เครื่องจักรตัวที่สามคือ การบริโภคภายในประเทศคาดว่าจะชะลอตัวลงจากความไม่มั่นใจในภาพรวมของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพาสองภาคเศรษฐกิจหลัก คือ การส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งมีความผันแปรกับเศรษฐกิจภายนอกประเทศสูง

ส่วนการใช้จ่ายของรัฐบาลถือว่าเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว หมายความว่างบประมาณและเม็ดเงินลงทุนภาครัฐต่างๆ เข้าสู่รอบปกติ หลังจากปีงบประมาณ 2567 มีความล่าช้าของการออกงบประมาณ เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ดังนั้นปีนี้น่าจะเข้าที่เข้าทาง และน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่กระจายเม็ดเงินไปทั่วทุกจังหวัด

ฉะนั้นโดยรวมภาพแล้ว เชื่อว่าช่วงที่เหลือของปี 2568 ยังมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า ทั้งนี้การประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ทางที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยังคงตั้งไว้ที่ 2.4-2.9% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี กกร.น่าจะมีการพิจารณาและประเมินจีดีพีปี 2568 ใหม่อีกครั้ง โดยจะประเมินได้จริงหลังจากนโยบายภาษีของสหรัฐมีความชัดเจนในสามเดือนข้างหน้า

“ขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังไม่มีความนิ่ง ทุกวันก็ยังมีเรื่องใหม่ออกมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะการเลื่อนเก็บภาษีไป 90 วันที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง หรือเรื่องรายการสินค้าส่งออกที่อาจจะได้ยกเว้น หรือรายการสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีเพราะสหรัฐสามารถผลิตเองหรือมีวัตถุดิบในประเทศ” นายวิศิษฐ์ทิ้งท้าย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image