เอกชน ชี้ส่งออกไทย Q2 ยังมีโอกาสโต สหรัฐเร่งเครื่องนำเข้าก่อนขึ้นภาษี 90 วัน  

เอกชน ชี้ส่งออกไทย Q2 ยังมีโอกาสโต สหรัฐเร่งเครื่องนำเข้าก่อนขึ้นภาษี 90 วัน  

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และ นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผยกับมติชนว่า จากกรณีความผันผวนของนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้า นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกานั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความปั่นป่วน ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มนำเข้าและส่งออกไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าในระยะยาวได้ อย่างระยะล่วงหน้า 6 เดือน -1ปีเป็นเรื่องยากมาก

ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจต่างต้องปรับแผนให้สั้นที่สุด อาจจะเหลือเพียงระยะล่วงหน้าแค่ 3 เดือนเท่านั้น เพราะสถานการณ์ขณะนี้มีความไม่แน่นอนสูงมาก และต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างอยู่ตลอดเวลา

ในส่วนภาคการส่งออกถือว่ายังมีแรงส่งอยู่ โดยช่วงไตรมาสแรก ปี 2568 ยังทำตัวเลขมูลค่าการส่งออกได้ค่อนข้างดี เนื่องจากประเทศต่างๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาเอง มีกังวลกับการที่สหรัฐออกนโยบายปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก ทำให้มีการเร่งนำเข้าสินค้า เตรียมการก่อนถึงวันที่มีผลเรียกเก็บภาษีเพิ่ม

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ แต่เดิมหลายภาคส่วนคาดว่า การส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2568 จะชะลอตัวจากการที่สหรัฐได้ประกาศ ว่าจะบังคับใช้ภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariffs) ในวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา แต่พอถึงเวลาจริงกลับมีการประกาศเลื่อนออกไปก่อน 90 วัน ดังนั้น ยังมีโอกาสที่ตัวเลขการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ยังมีการเร่งขยายตัวต่อเนื่องอีกครั้ง เพราะว่าความไม่แน่นอน ทำให้ผู้นำเข้าพยายามที่จะเร่งนำเข้าสินค้ามากขึ้น

ทั้งนี้ ความชัดเจนของทิศทางการส่งออกในครึ่งปีหลังขึ้นอยู่กับผลการเจรจาจะออกมาในรูปแบบใด เชื่อว่าประเทศต่างๆ ก็มีสินค้าคล้ายกัน น่าจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราใกล้ๆ กัน เพราะฉะนั้น เรื่องการส่งออกไทย ยังคงเดินหน้าต่อได้ แต่อาจจะไม่หวือหวา เพราะว่ามีแรงกดดันเรื่องภาษี แม้ว่าภาษีจะไม่ได้ขึ้นหนักๆ ทั้งหมด แต่ว่าภาพรวมอย่างน้อยที่สุด ขณะนี้ทุกประเทศก็โดนอัตราพื้นฐานที่ 10% ไปแล้ว

ADVERTISMENT

ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยว ก็ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐเช่นกัน ที่ได้ส่งผลต่อให้ความมั่นใจของผู้บริโภคทั่วโลกลดลง ขณะที่การท่องเที่ยวไทยในปีที่ผ่านมานั้นทำได้ดีมาก ทำให้ปีนี้มีความคาดหวังว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยเป้าหมายที่ 38 ล้านคนต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทาย และยังคงต้องรอลุ้น 2-3 เดือน

นอกจากนี้การบริโภคภายในประเทศคาดว่าจะชะลอตัวลงจากความไม่มั่นใจในภาพรวมของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพาสองภาคเศรษฐกิจหลัก คือ การส่งออกและการท่องเที่ยวซึ่งมีความผันแปรกับเศรษฐกิจภายนอกประเทศสูง ฉะนั้นโดยรวมภาพแล้ว เชื่อว่าช่วงที่เหลือของปี 2568 ยังมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า

ทั้งนี้การประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ทางประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยังคงตั้งไว้ที่ 2.4-2.9% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

“อย่างไรก็ดี จะมีการพิจารณา และประเมินจีดีพีปี 2568 ใหม่อีกครั้ง โดยจะประเมินได้จริง หลังจากนโยบายภาษีของสหรัฐมีความชัดเจนในสามเดือนข้างหน้า”นายวิศิษฐ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image