เตรียมออกประกาศคุมเรือประมงพื้นบ้าน จ่อบังคับต้องมีใบอนุญาตเหมือนเรือพาณิชย์

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามพ.ร.ก. ประมง 2558 ได้แบ่งการทำประมงในเขตน่านน้ำไทยออกเป็น 2 ประเภท คือประมงพื้นบ้าน ที่มีขนาดเรือไม่เกิน10 ตันกรอส และประมงพาณิชย์ที่มีขนาดเรือตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไป โดยการทำประมงพื้นบ้านสนับสนุนให้จับสัตว์น้ำได้ไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล จากเดิมที่กำหนดไว้ 1.5 ไมล์ทะเล โดย เรือประมงพื้นบ้านไม่ต้องมีใบอนุญาตการทำประมง แต่ต้องจดทะเบียนเรือจากกรมเจ้าท่า ขณะที่เรือประมงพาณิชย์ ที่จะต้องมีทั้งใบอนุญาตการทำประมงและจดทะเบียนเรือ เนื่องจากวัตถุประมงของเรือประมงพาณิชย์ คือ การจับสัตว์น้ำมาเพื่อจำหน่าย ปัจจุบันมีเรือที่จดทะเบียนกับกรมเจ้าท่าแล้วรวม 37,000 ลำ แบ่งเป็น เรือประมงพื้นบ้าน 25,000 ลำ และเรือประมงพาณิชย์ 12,000 ลำ

นายอดิศร กล่าวว่า เรือประมงพื้นบ้านเริ่มมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากชาวประมงสามารถต่อเรือเองได้ มีการพัฒนาเครื่องมือจับปลา และส่วนใหญ่สัตว์น้ำที่จับได้นำมาจำหน่ายตามร้านอาหารภัตาคาร ซึ่งไม่ถูกต้อง เมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว การทำประมงพื้นบ้านจะห้ามจำหน่ายต้องทำเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น อีกทั้งตั้งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตจำนวนเรือประมงพื้นบ้านที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นเรือพาณิชย์ที่ย่อขนาดลง

“หากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นปัญหาการทำประมงภาพรวม กรมประมงจึงเตรียมออกประกาศให้เรือประมงพื้นบ้าน ทั้งหมดต้องขอใบอนุญาตการทำประมงก่อน เพื่อควบคุมเรือประมงพื้นบ้านให้อยู่ในระบบเช่นเดียวกับเรือประมงพาณิชย์ซึ่งมีการควบคุมแล้ว ”

นายอดิศร กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมกลุ่มประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐจะสนับสนุนให้มีการผลิตของดีคุณภาพสูงเพื่อเปิดช่องทางทางการตลาดใหม่ อาทิ ภัตตาคาร โรงงานแปรรูป โดยเพิ่มมูลค่าของสินค้าการสร้างเรื่องราวในแต่ละท้องถิ่นขึ้นมา เช่น ปลากุเลาเค็ม อ.ตากใบ จ.นราธิวาส หอยชักตีน จ.กระบี่ เป็นต้น โดยราคาอาหารทะเลจะไม่ถูกอีกต่อไป เพราะปริมาณสัตว์น้ำที่มีอยู่ในทะเลของโลกในปัจจุบัน ลดลงไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคอยู่แล้ว ถ้าประมงพื้นบ้านสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพดี ราคาที่ได้ก็สูงตามไปด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image