เปิดข้อพิพาทปมร้อน บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แค่จริงใจก็จบเรื่อง!!

สัปดาห์ที่ผ่านมาคงไม่มีวงแถลงข่าวไหนจะเข้มข้นจนสังคมพากันอึ้งกิมกี่เท่ากับวงแถลงข่าวของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นที่สมาคม
นักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยอีกแล้ว นั่นเพราะถ้อยแถลงของคุณชาย ไม่เพียงดุเดือด แต่ยังทำให้ผู้ฟังรู้สึกได้ถึงกลิ่นแปลกๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรม …กับเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน

เปิดข้อมูลทหารเก่ารวบอำนาจ
โดยข้อมูลที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเปิดเผยนั้น มีการระบุว่ามีกลุ่มทหารกำลังพยายามจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเพื่อกำกับกิจการปิโตรเลียมทั้งระบบ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ การเป็น ผู้กำกับดูแล (Regulator) การเป็น ผู้ดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Operator) และจะเป็น ผู้ขายและจัดจำหน่าย (Trader and distributor) จึงได้มีการสอดไส้อำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมพ.ศ…. ด้วยการเพิ่มมาตรา 10/1 ให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษารายละเอียดรูปแบบและวิธีการจัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในระยะเริ่มต้นให้กรมพลังงานทหารเป็น
ผู้บริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไปก่อน โดยเรื่องนี้กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 ซึ่งเป็นวาระสุดท้ายในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 30 มีนาคม

พร้อมระบุต่อว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญได้เพิ่มเติมเรื่องดังกล่าวเข้าไป ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะการแก้ไขหลักการของ พ.ร.บ.ทั้งที่รัฐบาลในฐานะผู้เสนอร่างไม่มีนโยบายจะทำ แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับโอนอ่อนผ่อนตาม คาดว่าอาจเพราะเกรงใจใครบางคนหรือกลุ่มบุคคลซึ่งมีอิทธิพลอยู่ใน ครม.ชุดนี้ และหาก สนช.ปล่อยให้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติถูกบรรจุในกฎหมายและผ่านการพิจารณา บรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะมีกรรมสิทธิ์ในพลังงานทุกชนิดรวมทั้งกิจการพลังงาน สร้างความกังวลต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งหาก ปตท.ประสบปัญหาจะกระทบต่อวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ และไทยอาจประสบปัญหาวิกฤตพลังงานจนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับ ประเทศเวเนซุเอลา เพราะบรรษัทน้ำมันแห่งชาติบริหารผิดพลาด

รบ.-กมธ.ปฏิเสธพัลวัน
ถือเป็นการโยนเผือกร้อนไปยังรัฐบาล เพื่อไขข้อกระจ่างในเรื่องนี้ ซึ่งผลก็เป็นไปตามคาด คือ ปฏิเสธข้อกล่าวหา การฮุบอำนาจมาอยู่ในมือทหารŽ ทั้งจากฟากรัฐบาลและกรรมาธิการพลังงานเสียงข้างน้อยที่เสนอเรื่องนี้

Advertisement

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงพลังงาน และรองโฆษกกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าขณะนี้ไทยไม่จำเป็นต้องจัดตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (เอ็นโอซี) เนื่องจากไทยมีโครงสร้างที่รองรับ มีการแบ่งภารกิจที่ชัดเจน มีการคานอำนาจ และตรวจสอบ โดยมีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำกับดูแลภารกิจภาครัฐ ขณะที่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (ปตท.สผ.) เป็นผู้สำรวจและผลิต มีการแข่งขันกับบริษัทอื่นๆ อย่างเสรี ไม่ผูกขาด และมีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่บริษัท ปตท.เป็นผู้ค้า อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ควบคุมให้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ

หากมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาเพื่อเป็นหน่วยงานเดียว จะต้องมีการกำกับไม่ให้เกิดการผูกขาดอำนาจบริหารกิจการปิโตรเลียม และซ้ำซ้อนด้านภารกิจ จึงจำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบคอบ กำหนดวัตถุประสงค์และภารกิจให้ชัดเจนว่าจะเป็นกิจการเสรี หรือผูกขาด การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นแก่รัฐ คือเรื่องประสิทธิภาพ รวมถึงเงินลงทุนที่ภาครัฐจะต้องเป็นผู้ลงทุนเพื่อสำรวจและผลิตหากไม่พบปิโตรเลียมใดๆ ก็ต้องสูญเสียเงินจำนวนมาก เพราะการลงทุนขุดเจาะสำรวจต้องลงทุนขั้นต่ำ 3 ล้านเหรียญสหรัฐต่อหลุมŽ นายสราวุธระบุ

สนช.ผ่านกม.ปิโตรเลียมแต่ตัดบรรษัทน้ำมันทิ้ง
ในที่สุดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ประชุม สนช.วาระ 3 ก็มีมติเห็นชอบให้ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ด้วยคะแนน 227 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง และให้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแนบท้าย พ.ร.บ. และให้ ครม.แต่งตั้งคณะกรรมการภายใน 60 วัน เพื่อศึกษารายละเอียดรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปี

Advertisement

รุ่งขึ้นจึงมีเสียงหนุนและเสียงคัดค้านดังระงม!!

เอกชนเชียร์เปิดรอบ21-ประมูล2แหล่ง
นายเจน นำชัยสิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ สนช. แสดงความเห็นว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ รัฐบาลควรเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เลยเพราะช้ามามากแล้ว รวมถึงการจัดการแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุสัมปทาน ไม่ต้องรอการศึกษาแนวทางจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ที่อยู่แนบท้าย พ.ร.บ.เนื่องจากการการผลิตปิโตรเลียมต้องใช้เวลาเตรียมการ 1 ปี จึงจะเริ่มสำรวจได้ และเมื่อพบปิโตรเลียมจึงจะเริ่มลงทุนขุดเจาะ

นอกจากนี้รัฐบาลควรเร่งจัดการสัมปทานในอ่าวไทยที่กำลังจะหมดอายุ 2 แหล่ง เพราะมีกำลังการผลิตคิดเป็น 70% ของก๊าซที่ผลิตได้ในอ่าวไทยทั้งหมด เพราะเหลืออีก 5 ปีก็จะหมดอายุสัมปทาน คือ 1.แหล่งเอราวัณ มีบริษัท เชฟรอน รับสัมปทาน ตั้งแต่ปี 2525 และจะสิ้นสุดอายุปี 2565 2.แหล่งบงกช มี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) รับสัมปทาน เริ่มผลิตแปลงแรกปี 2515 ต่อมาได้พื้นที่สัมปทานเพิ่ม และแปลงสุดท้ายจะสิ้นอายุปี 2566

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธาน ส.อ.ท. อดีตผู้บริหาร ปตท. ระบุว่า อยากให้คณะกรรมการที่จะเข้ามาทำหน้าที่พิจารณามาตรา 10/1 นี้ เปิดใจกว้างไม่ยึดติดแต่มุมมองของตัวเอง ซึ่งหลังจากกฎหมายผ่าน เชื่อว่าการประมูลแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชคงจะดำเนินการต่อไปได้ ส่วนจะเลือกแบบสัมปทานหรือแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) นั้น เมื่อ ครม.เห็นชอบก็ต้องยุติอย่ากดดันอีก

คปพ.ระบุคือความล้มเหลวของรัฐ
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) และนักวิชาการอิสระด้านพลังงาน บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความล้มเหลว เพราะการนำมาตรา 10/1 ไปอยู่ในข้อสังเกตเท่ากับว่าเป็นการถอดเครื่องยนต์ กลับไปสู่การทำสัมปทานรูปแบบเดิม และการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารายละเอียดของรูปแบบและวิธีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติภายใน 1 ปี ก็ต้องดูดีๆ ว่าความหมายคืออะไร หมายถึงการกลับไปศึกษารายละเอียดใหม่ ไม่ใช่การตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติภายใน 1 ปี และคำตอบของเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ดังนั้นจึงมองว่าเป็นความล้มเหลว

ต้านระบบปิโตรเลียมเพราะไม่จริงใจ
อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูที่มาที่ไปของแนวคิดนี้ หลายคนอาจได้คำตอบโดยไม่รู้ตัว!!!

คำถามคือ เหตุใดหลายฝ่าย โดยเฉพาะกลุ่ม คปพ. และประชาชนจำนวนหนึ่งจึงตั้งข้อสังเกตต่อความโปร่งใสในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และพยายามเรียกร้องให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม พร้อมขอให้เพิ่มระบบพีเอสซีและเอสซี และอยากให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยมีโมเดลหลักจากประเทศมาเลเซีย

คำตอบคือ ระบบของไทย ดีŽ แต่ปัญหามาจากความไม่จริงใจของคนบางกลุ่มที่มีอำนาจ การปกปิดข้อมูล การคำนึงถึงประโยชน์พวกพ้อง

เหล่านี้คือมูลเหตุที่ทำให้ คปพ.สู้ไม่ถอย

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงความจริงใจของรัฐบาลด้วย เพราะตั้งแต่เริ่มพิจารณาทบทวน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 นั้น กระทรวงพลังงานและ คปพ.ต่างยกร่าง พ.ร.บ.เพื่อนำเสนอ แต่สุดท้ายรัฐบาลเลือกฉบับของกระทรวง

พลังงานที่มีกระดาษเพียง 2 แผ่น ทำให้ คปพ.เปิดแถลงข่าวตอบโต้เพราะรู้สึกว่าถูกหลอก!

ปาหี่ครม.ตั้งกก.ศึกษาบรรษัทน้ำมันฯ
การยกร่างกฎหมายดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติถูกกล่าวถึงในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 โดย ครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วพร้อมเพิ่มระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตและระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิตนอกเหนือจากระบบสัมปทาน และนำเสนอต่อ สนช. และให้กระทรวงพลังงานกับกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการศึกษาข้อดีข้อเสียและแนวทางการดำเนินการให้ละเอียดรอบคอบในการจัดตั้ง บรรษัทน้ำมันแห่งชาติŽ ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) และหากผลการศึกษาเห็นสมควรให้ปรับปรุง ก็ให้เสนอ ครม.เห็นชอบและส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป

แต่จนแล้วจนเล่า ก็ยังไม่เคยมีใครได้เห็นผลการศึกษาดังกล่าว และนี่คือความไม่จริงใจที่ภาครัฐต้องพิจารณา!

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทหารกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าตัวเองรักชาติ หวังดี จะขอเข้ามาบริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ก่อนจะถูกสกัดในเวลาต่อมา
เพราะเรื่องนี้มีผลประโยชน์หลักแสนล้านเป็นเดิมพัน!!!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image