ผู้เขียน | ทีมข่าวเศรษฐกิจ |
---|
ประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากสารพัดปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ หรือหากควบคุมได้ ก็อาจขยับตัวช้าเกินไป ทำให้ขนาดความเสียหายใหญ่มากขึ้นจนเกินควบคุม ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนในภาคของการท่องเที่ยวไทย ที่มีปัจจัยลบเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2567 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ที่สถานการณ์นอกจากจะยังไม่ดีขึ้นแล้วยังดูรุนแรงมากขึ้นจนน่าเป็นกังวล
⦁ รวมเหตุร้ายสร้างหายนะ
ย้อนรอยเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้น ประเทศไทยเกิดการกราดยิงในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน จนมีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิต ถือเป็นจุดเริ่มต้นเหตุการณ์ร้ายขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะตลาดที่มีความอ่อนไหวในเรื่องนี้ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ผลกระทบยังไม่จางหาย เปิดต้นปี 2568 ได้เพียงไม่นาน ก็เกิดกรณีนักแสดงจีนถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์จับไปบริเวณชายแดนไทย เกิดคำถามถึงเรื่องความปลอดภัยของประเทศไทย ซึ่งถูกโจมตีจากอินฟลูเอนเซอร์จีนเยอะมาก ในแง่ของการเล่าข่าวเชิงลบ เพราะมีผลต่อยอดชมยอดเข้าถึงต่างๆ เรื่องยังไม่ทันเงียบก็มาเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวอีก ผลกระทบที่เกิดขึ้นมาเป็นระลอกๆ เริ่มลุกลามจนเกินการควบคุม
เสียงสะท้อนจากหลายฝั่งหลายฝ่าย ชี้ให้ภาครัฐเร่งขยับตัวเพื่อดึงความเชื่อมั่นกลับคืนมา เริ่มต้นตั้งแต่กรณีกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าครั้งนั้น ตรงกับวันชาติจีน ตั้งแต่วันที่ 1-7 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวจีนจะหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวไทย เป็นจำนวนมากกว่าช่วงอื่นตลอดทั้งปี แต่ต้องยอมรับว่าตัวเลขการเดินทางเข้าเที่ยวไทยตอนนั้นหล่นวูบหลายสิบเปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับตั้งแต่โควิด-19 คลายตัวลงประเทศไทยไม่เคยเจอตัวเลขแบบนี้มาก่อน แม้ตลอดทั้งปีจะฟื้นตัวขึ้นได้ก็ตาม
⦁ จีนหายฉุดความคึกคัก
เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการเจ้าของโรงแรมใหญ่ในพัทยา จังหวัดชลบุรี ธเนศ ศุภรสหัสรังสี นายกสมาคมสมาพันธ์ท่องเที่ยวชลบุรี เปิดเผยว่า ภาพท่องเที่ยวไทยในปัจจุบันต้องยอมรับก่อนว่า ไม่ดีมาสักพักหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของไทย ส่งผลให้บรรยากาศรวมไม่สดใสทั้งหมด เพราะคนจีนไม่เชื่อมั่นในการเข้ามาเที่ยวไทย ซึ่งยอดจองผ่านโรงแรมในพื้นที่หลักๆ นักท่องเที่ยวจีนหายไปเกือบครึ่งจากที่เคยหายไปแค่กลุ่มกรุ๊ปทัวร์จีน แต่ขณะนี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเอง (เอฟไอที) ก็หายไปด้วย ผนวกกับการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยเริ่มสู้คู่แข่งไม่ได้แล้ว เพราะต้นทุนท่องเที่ยวของหลายประเทศคู่แข่งถูกกว่า อาทิ เวียดนาม ที่มีค่าแรงถูกกว่าไทย ค่าที่พักก็ถูกกว่าเช่นกัน อย่างโรงแรมขายพร้อมบริการอาหารตลอด 24 ชั่วโมง ยังถูกกว่าโรงแรมในไทยที่ขายห้องพักรวมเพียงอาหารเช้าอีก
ประเทศไทยเผชิญความเสี่ยงทั้งจากผลกระทบด้านความเชื่อมั่นที่หายไป และการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะคู่แข่งในแถบเดียวกัน เนื่องจากคู่แข่งในตอนนี้มีสินค้าที่ถูกพัฒนาดีขึ้นจนพูดว่าสินค้าและบริการของคู่แข่งแม้ถูกแต่ไม่ดีไม่ได้แล้ว แหล่งท่องเที่ยวไม่ได้มีเพียงธรรมชาติอย่างเดียว แต่มีแมนเมด หรือแหล่งท่องเที่ยวสร้างเอง อาทิ สวนสนุก ที่พัฒนาได้ดีมากกว่าไทยแล้ว ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนเข้าไปมากขึ้น อย่างเวียดนาม ในเดือนมีนาคม มีนักท่องเที่ยวจีนเข้าไปจำนวนเกือบ 7 แสนคน ขณะที่ไทยมีเข้ามาเพียง 3 แสนคนเท่านั้น ส่วนญี่ปุ่น เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้เน้นดึงนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะค่าเงินเยนที่อ่อนค่ามาก บินไม่ไกล ทำให้ญี่ปุ่นดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติไปจากไทยได้เยอะมาก ขณะเดียวกันคนไทยก็ออกไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มคนระดับบนที่ออกไปใช้จ่ายต่างประเทศมากขึ้น
⦁ จี้แก้ปมทัศนคติเชิงลบ
สอดคล้องกับมุมมองของ อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ระบุว่า ข้อมูลที่ได้รับจากพันธมิตรสายการบินพบว่า ปัจจุบันมีเที่ยวบินจากจีนมาไทยมีประมาณวันละ 136 เที่ยวบิน ใน 31 เมืองจากจีนเข้าไทย หากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังลดลงต่อเนื่องแบบนี้ แนวโน้มครึ่งหลังของปี 2568 มีโอกาสที่เที่ยวบินอาจถูกยกเลิกไปกว่า 68% ของเที่ยวบินทั้งหมด หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหา ยังคิดเอาเนื้อหนูมาแปะเนื้อช้าง ยังไม่เร่งทำการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ปล่อยให้เกิดทัศนคติเชิงลบต่อกันทั้งไทยและจีน จะส่งผลกระทบให้อนาคตของท่องเที่ยวไทยและประเทศไทยแย่แน่ เพราะประเด็นเรื่องความปลอดภัย และความไม่เชื่อมั่นที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่กลางปี 2567 ลุกลามมากขึ้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แต่การสื่อสารเพื่อตอบโต้ข้อมูลข่าวสารที่เกินจริงในโลกออนไลน์ของจีนจากประเทศไทยยังเข้มแข็งไม่มากพอ จึงกังวลว่าประเด็นความกังวลนี้จะลุกลามมากขึ้นจนกลายเป็นทัศนคติเชิงลบต่อกัน
ความกังวลในการทำตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะตลาดระยะใกล้ที่มีสัดส่วนเป็นลูกค้าหลักมากกว่าตลาดระยะไกลทั้งยุโรป สหรัฐ และอื่นๆ ซึ่งตลาดที่เป็นลูกค้าหลักจริงๆ คือ ตลาดจีนที่นับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีการรายงานข่าวโดยใช้คำว่าจีนเทา หรือจีนทำร้ายคนไทย ทำให้ในโลกออนไลน์ของจีนเกิดความรู้สึกว่าประเทศไทยไม่มีความยินดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนแล้วใช่หรือไม่จึงมีความกังวลในเรื่องประเด็นความรู้สึกเชิงลบระหว่างกัน อาจส่งผลกระทบต่อภาพรวมความสัมพันธ์ของไทยและจีนได้ โดยเรื่องความปลอดภัยในส่วนของเจ้าหน้าที่ อาทิ ตำรวจท่องเที่ยวพยายามทำหน้าที่ได้ดีมาก แต่สิ่งที่ขาดคือการสื่อสาร ทำอย่างไรให้เกิดทัศนคติที่ดีมากขึ้น เผยแพร่การยกระดับความปลอดภัยของไทยออกไปอาทิ กรุงเทพฯ มีกล้องวงจรปิด 63,927 ตัว รวมกล้องเอไออีก 17,000 ตัว สะท้อนถึงกรุงเทพฯมีความปลอดภัยสูงมาก แต่สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ไม่ได้ถูกสื่อสารออกไป
“มีความกังวลว่า ผลกระทบของภาคการท่องเที่ยว เป็นเพราะการขายในราคาสูงเกินไปหรือไม่ ขอยืนยันว่าไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีราคาคุ้มค่ากับคุณภาพของสินค้าและบริการที่ได้รับกลับไปทำให้ขณะนี้ปัญหาการขายของถูกหรือแพงเป็นประเด็นขี้ปะติ๋วเท่านั้น แต่ประเด็นทางสังคมที่ขยายวงกว้างในตอนนี้มากกว่าที่กำลังเป็นปัญหารุนแรง โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ระดับนายกรัฐมนตรีต้องลงมาดู เพื่อร่วมแก้ปัญหาของประเทศด้วยตัวเอง เหมือนช่วงก่อนหน้านี้ที่อัดวิดีโอเป็นภาษาจีนสื่อสารออกไป เราต้องทำให้มากขึ้นอีก” อดิษฐ์กล่าว
⦁ สัดส่วนตลาดทดแทนกันไม่ได้
อดิษฐ์กล่าวอีกว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยไม่สามารถพึ่งพานักท่องเที่ยวคุณภาพได้เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น เหมือนที่ประเทศอื่นทั้งโลกไม่สามารถทำได้เช่นกัน ต้องทำตลาดไปพร้อมกัน ในด้านราคาที่มีช่วงถูกและแพงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับคุณภาพและความยุติธรรมที่นักท่องเที่ยวจะได้รับกลับไปมากกว่า เพราะไทยถือเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นจุดหมายปลายทางที่มีราคาดีในการท่องเที่ยว ไม่ได้หมายความว่าราคาถูกเท่านั้น แต่เป็นความคุ้มค่าในการท่องเที่ยว อาทิ โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้ด้อยว่า ค่าครองชีพไม่ได้สูงเทียบกับที่อื่นๆ โดยประเด็นที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวไทย ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอตัว โดยเฉพาะตลาดจีนที่กำลังลงเหวอยู่ตอนนี้นั้น เป็นเรื่องความปลอดภัยล้วน
แม้ตอนนี้จำนวนการใช้จ่ายต่อหัวจะดีขึ้น หรือมักพูดว่ารายได้ในด้านการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น แม้จำนวนจะลดลง แต่อยากให้พิจารณาลงลึกจริงๆ ยกตัวอย่างโรงแรมที่เคยขายในราคาไม่เคยต่ำกว่า 9,000-10,000 บาท ซึ่งในราคานี้ จองได้ยากมากด้วย แต่ตอนนี้ราคาขายเหลีอเพียง 5,500 บาทเท่านั้น เพราะตัวเลขลงเหวแล้ว นักท่องเที่ยวจีนลดลง ส่วนนักท่องเที่ยวระยะไกลเริ่มเดินทางกลับ เพราะหมดฤดูท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ของยุโรปแล้ว ถามว่าจะนำตลาดอื่นมาทดแทนตลาดจีน ต้องบอกว่าฐานตลาดแตกต่างกันมาก ปริมาณแตกต่างกัน ไม่สามารถนำมาแทนกันได้เลย
“แอตต้าในฐานะสมาคมที่นำเข้านักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยมาประมาณ 4-5 ล้านคนต่อปี ในช่วงโควิด-19 และในปี 2567 จำนวนประมาณ 3 ล้านคน ในปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ผ่านเอเยนต์จีนได้มีจำนวนลดลงอย่างมีนัยตามตัวเลขสถิติในภาพใหญ่ จำนวนนักท่องเที่ยวเดือนมกราคม-เมษายน 2568 ลดลง 56% เมื่อเทียบกับปี 2567 ขณะที่ข้อมูลจากภาคเอกชนทั้งร้านค้า บริษัทขนส่ง และร้านแลกเปลี่ยนเงินตราที่มียอดเงินต่างประเทศเข้าแลกเปลี่ยนลดลงในเดือนมีนาคมประมาณ 15% รวมทั้งผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหารและข้อมูลเชิงประจักษ์จากข่าวสารบนออนไลน์และสื่อหลักต่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งถือเป็นภาวะที่น่ากังวลมากๆ ท่ามกลางเศรษฐกิจแบบนี้ ความกังวลคือยุคทองของท่องเที่ยวไทยจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว” อดิษฐ์กล่าว
เมื่อภาคเอกชนสะท้อนเสียงมาอย่างหนาหู ทั้งการตัวแทนผู้ประกอบการทัวร์นำเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงมีการลงพื้นที่สำรวจการประกอบธุรกิจตามแหล่งท่องเที่ยวหลักๆ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งพัทยา จังหวัดชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ หรือแม้กระทั่งถนนข้าวสาร ที่รวมนักท่องเที่ยวต่างชาติย่ำราตรีไว้อย่างหนาแน่นทุกค่ำคืน แต่ตอนนี้เสียงสะท้อนออกมาเหมือนกันว่าช่างเงียบเหงาเหลือเกิน
⦁ เจ้ากระทรวงออกโรงเอง
ร้อนถึงผู้กุมบังเหียนภาคการท่องเที่ยว สรวงศ์ เทียนทองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า การสื่อสารเพื่อดึงภาพลักษณ์เชิงบวกกลับมาไม่ได้ง่าย เนื่องจากต้องยอมรับว่าสื่อออนไลน์ของจีนมีขนาดใหญ่มาก และมักสื่อสารไปในทิศทางเดียวกัน การแก้ไขปัญหาในประเทศก่อน อาทิ การปราบทุนเทาหรืออาชญากรรมผิดกฎหมายที่ข้ามจากต่างประเทศเข้ามานั้น เจ้าหน้าที่ของไทยทำอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่การสื่อสารข่าวเชิงบวกออกไป อาจไม่ได้มีประสิทธิภาพมากเท่าข่าวเชิงลบที่กระจายไปได้อย่างกว้างไกลในเวลารวดเร็ว ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างไร เหมือนที่ได้ประชุมร่วมกับภาคเอกชนช่วงที่ผ่านมา หากมีข้อเสนอใดที่สามารถนำไปทำได้ก่อนก็จะเร่งทำทันที
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กระทรวงได้ต้อนรับคณะอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังจากประเทศจีน นำโดยนายไท่หยวน เหล่าเกอ ผู้มีผู้ติดตามบนแพลตฟอร์ม Douyin มากถึง 93 ล้านคน เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทยสู่ตลาดนักท่องเที่ยวชาวจีน ผ่านการประชาสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมในประเทศจีน โดยการเดินทางมาประเทศไทยของนายไท่หยวนในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวด้วยพลังของซอฟต์พาวเวอร์ เมื่อปีที่ผ่านมา นายไท่หยวนได้ไลฟ์ขายทุเรียนไทยจนมียอดขายรวมสูงถึง 1 พันล้านบาท สร้างกระแสความนิยมในสินค้าท้องถิ่นของไทยในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนอย่างกว้างขวาง และในปีนี้ยังมีแผนจะเดินหน้าสร้างสถิติใหม่ร่วมกับประเทศไทยอีกครั้ง
ต้องบอกว่าการทำตลาดจีน ดึงภาพเชิงลบให้กลับมาดีขึ้นนั้น ต้องอาศัยผู้นำทางความคิด หรือเคโอแอล ที่มีผู้ติดตามจำนวนหลายสิบล้านคนแบบนี้ ดึงเข้ามาเที่ยวไทยพร้อมกันหลายๆ คน เพื่อให้กระจายภาพท่องเที่ยวไทยที่เป็นความจริงออกไปพร้อมกัน นำให้ภาพไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เสียงดังมากเพียงพอ เพราะอย่างที่บอกว่าข่าวบนโลกออนไลน์ของจีนมักเป็นไปในทางเดียวกัน หากลบก็จะลบพร้อมกัน ซึ่งส่วนนี้เอกชนก็สะท้อนภาพให้เห็นว่า อินฟลูเอนเซอร์หากนำมาไม่ถึง ก็เปลี่ยนแปลงภาพความคิดในแง่บวกไม่ได้
⦁ หวังไม้เด็ด‘สวัสดี หนีห่าว’
แม่ทัพหญิงแกร่ง ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ ททท.เตรียมเปิดตัวโครงการสวัสดีหนีห่าว เป็นการจัดเมกะแฟมทริป เชิญผู้ประกอบการบริษัททัวร์ สื่อมวลชน และผู้นำทางความคิด (KOL) จากจีนเดินทางมาสำรวจบรรยากาศและสินค้าการท่องเที่ยวของไทยรวม 500 คน จากทุกมณฑลทั่วประเทศจีน แบ่งเป็นตัวแทนบริษัททัวร์ 300 คน และสื่อมวลชนกับผู้นำทางความคิดอีก 200 คน เพื่อให้เห็นภาพความเป็นจริงของการท่องเที่ยวไทย โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาร่วมเปิดงานเมกะแฟมทริปโครงการสวัสดี หนีห่าวด้วย ซึ่งจะจัดพื้นที่เป็นฟอรั่มเพื่อฉายภาพให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นอย่างไรในภาพจริง มีอะไรใหม่บ้าง โดยเมื่อนายกฯเปิดงานแล้ว ททท.จะเป็นฝ่ายพาทัวร์ให้ได้รับประสบการณ์เที่ยวไทยจริงๆ เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานได้เข้าใจภาพและเชื่อมั่นประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีความอ่อนไหวในประเด็นนี้
นอกจากนี้ ททท.มีกำหนดจัดงานเทรดโชว์ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยแลนด์ ทราเวล มาร์ท พลัส 2025 ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน ที่ จ.เชียงใหม่ โดยจะมีผู้ซื้อ (Buyer) จากต่างประเทศเดินทางมาร่วมงาน 480 คน รวมกับสื่อมวลชน และผู้นำความคิด (เคโอแอล) มากกว่า 500-600 คน โดยได้เชิญผู้ร่วมงานจากตลาดจีนมาจำนวนมาก จึงคาดหวังให้เป็นอีกงานที่ช่วยยกระดับการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติให้ดีขึ้น
ยอมรับว่าปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยเป็นเรื่องความหวาดระแวง ความไม่เชื่อมั่น และกระแสเชิงลบที่ถาโถมเข้ามาในโลกออนไลน์ ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีความอ่อนไหวในเรื่องความปลอดภัยมีผลกระทบ โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งต้องบอกว่าประเทศไทยจะไม่ง้อนักท่องเที่ยวจีนก็ไม่ได้ เพราะตัวเลขตลาดต่างชาติจะไปไม่ไหวเลย โดย ททท.คาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยอยู่ที่ 35.5 ล้านคน เท่ากับปี 2567 สร้างรายได้จากตลาดต่างประเทศเติบโตไม่น้อยกว่า 10% เมื่อเทียบกับฐานรายได้ 1.67 ล้านล้านบาทของปี 2567 เพิ่มเป็น 1.83 ล้านล้านบาทในปีนี้ ส่วนเป้าหมายนักท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย ตั้งเป้าเท่าเดิมที่จำนวน 205 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ตลาดในประเทศ 1.17 ล้านล้านบาท ทำให้เป้าหมายรายได้รวมทั้งตลาดในและต่างประเทศปีนี้อยู่ 3 ล้านล้านบาท เท่ากับรายได้รวมเมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาด
สุดท้ายแล้วต้องมาดูกันว่าข้อเสนอภาคธุรกิจ บวกเครื่องมือภาครัฐ จะตอบโจทย์ “ฟื้นท่องเที่ยวไทย” กลับมาสู่ยุคทองอีกครั้งได้หรือไม่