บีโอไอ จ่อชงบอร์ด เข็นมาตรการใหม่ รับมือทรัมป์2.0 เชื่อไทยมีจุดแข็ง ดึงนักลงทุนได้
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บีโอไอ ที่กระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวิชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะมีวาระพิจารณาที่สำคัญเกี่ยวกับการออกมาตรการใหม่ และปรับปรุงมาตรการเก่ารองรับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐ เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยต่อไป
นายนฤตม์ กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่จะสนับสนุนการลงทุนมีเครื่องมือ 3 ส่วน คือ 1. บีโอไอ ถือเป็นเครื่องมือด้านบริการ เช่น การจัดหลักสูตรเทรนนิ่งผู้ประกอบการในการลงทุนซึ่งทำต่อเนื่องมากว่า 20 รุ่นแล้ว เพื่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ไปถึงหน่วยงานราชการปลายทาง 2. กระทรวงการคลัง สนับสนุนด้านภาษี ซึ่งถ้าการลงทุนต่างประเทศแล้วมีกำไรกลับมาจะมีเงื่อนไข อาทิ ต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าสัดส่วนที่กำหนด และต้องไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนด และ 3. เครื่องมือทางการเงิน โดย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) ที่ช่วยสนับสนุนด้านเงินทุนต่างๆ
“จากนโยบายรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังที่ว่า ต่อไปนี้การลงทุนจะดูที่สัญชาติไม่ได้ดูที่โลโคคอนเทนท์เป็นหลัก ซึ่งจะมีส่วนในการพิจารณาเพื่อลงทุนด้วย ที่ผ่านมาบีโอไอก็พยายามทำมาตรการด้านการลงทุนระหว่างต่างชาติและคนไทย โดยเน้นเชิญชวนต่างชาติมาลงทุนโดยเฉพาะบริษัทยานยนต์และเทคโนโลยี เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยี ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาขยายไปอุตสาหกรรมอื่นนอกจากยานยนต์”นายนฤตม์ กล่าว
นายนฤตม์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีส่วนสนับสนุนปลายทาง คือ สถานทูตที่มีทั้งทูตพาณิชย์ และสำนักงานบีโอไอ เพื่ออำนวยความสะดวกการลงทุนปลายทางด้วย เช่น ประเทศเป้าหมายต่างประเทศที่สำคัญของสหรัฐ คือ อาเซียน บีโอไอก็จะมีออฟฟิศที่ไปตั้งในเวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้น รวมถึงตะวันออกกลางที่มีคนไทยกลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพสูงเป็นกลุ่มประเทศที่มีคนไทยไปลงทุนสูง
“ยังมั่นใจว่ายอดการลงทุนในปีนี้น่าจะมีแนวโน้มที่ดี แม้จะมีเรื่องของภาษีนำเข้าสหรัฐฯ เพราะท่ามกลางวิกฤติยังมีโอกาสที่ไทยยังเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่มีความพร้อม ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ไม่มีความขัดแย้งกับใคร รวมถึงความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชน บุคลากร มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ มีไฟฟ้าที่เสถียรและมีศักยภาพในการจัดหาไฟฟ้าได้เพียงพอ มีไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด รวมทั้งมีที่ดินที่รองรับอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ถือเป็นจุดแข็งที่ประเทศไทย เมื่อนักลงทุนต้องการย้ายฐายการผลิต จะเริ่มต้นธุรกิจจะรวดเร็วได้ที่ไทยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์”นายนฤตม์ กล่าว
นายนฤตม์ กล่าวว่า ส่วนผลกระทบการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เฉพาะรถยนต์ นั้น จริงๆ แล้วภาษีของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ และบีโอไอยังเชื่อว่าผลของการเจรจาจะเป็นผลที่ดีของภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ บีโอไอได้สนับสนุนบริษัทรถยนต์ที่ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ผลิตที่รับการส่งเสริม อีวี 3.0 ได้เริ่มผลิตชดเชยตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งกำลังผลิตรถอีวีในไทยทั้งหมดยอดรวมมากกว่า 4 แสนคัน แต่ไม่ใช่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ถือว่าไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลัง เนื่องจากตลาดอีวีในไทยและส่งออกยังไม่ฟื้นตัว ยอดผลิตจริงเป็นอีกประเด็นที่ต้องขึ้นกับสถานการณ์ของตลาดด้วย ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็พยายามหาตลาดส่งออกด้วย เพราะฉะนั้นหากตลาดมีการฟื้นตัวได้ดีกว่านี้ รวมทั้งตลาดส่งออกด้วยก็จะยิ่งทำให้มีโอกาสที่จะมีการผลิตในปริมาณที่เพียงพอ