ล้วงลึกแผนเนรมิต ‘ท่าเรือคลองเตย’ แลนด์มาร์กขนส่ง-แหล่งท่องเที่ยว…มากกว่าแค่ ‘กาสิโน’

ท่าเรือคลองเตย

กระแสของนโยบาย “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” หรือธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เป็นที่ถูกนำมาเป็นประเด็นถกกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบแนวทางการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมไปถึงทำเลที่จะนำมาพัฒนา

โดยทำเลที่ทุกฝ่ายต่างจับตามองคือ พื้นที่ ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) คาดว่าจะเป็นพื้นที่สานต่อนโยบาย ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของการพัฒนา ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) นั้น ไม่ได้มีแค่การนำมาเป็นคอมเพล็กซ์สำหรับความบันเทิง แต่ท่าเรือแห่งนี้เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์สำคัญของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ที่มุ่งส่งเสริมให้ท่าเรือแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์สมัยใหม่รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต

⦁ทำเลทองที่รัฐบาล 3 ยุค ต้องการปรับเปลี่ยน

ท่าเรือคลองเตย หรือท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ.2480 บนพื้นที่เดิมของเมืองพระประแดงเก่าริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเปิดดำเนินการในปี พ.ศ.2494 เป็นท่าเรือหลักแห่งแรกของประเทศไทยที่รองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในกรุงเทพมหานคร ในบริเวณถนนอาจณรงค์ เขตคลองเตย

ADVERTISMENT

จนเมื่อเวลาผ่านไปในปี 2562 ย่านถนนพระราม 4-คลองเตย ก็เริ่มมีความเจริญเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นทำเลทองย่านธุรกิจใหม่ของเหล่าเอกชนรายยักษ์ และเริ่มมีการเข้ามาลงทุนเชิงพาณิชย์มากขึ้น แต่ในส่วนย่านชุมชนคลองเตย และท่าเรือ กลับยังคงประสบปัญหา ความแออัด นับตั้งแต่ปี 2510 รวมถึงมีการใช้ที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้น ในปี 2562 รัฐบาลในสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรี จึงเริ่มมีแนวคิด ดำเนินโครงการพัฒนาและบริหารพื้นที่ตามผังแม่บทท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเริ่มจากโครงการสมาร์ท คอมมูนิตี้ ยกระดับชุมชนคลองเตยไปพร้อมกับพัฒนาระบบเป็นท่าเรืออัตโนมัติ ดันไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและเมืองท่องเที่ยวชั้นนำของโลก โดยนำที่ดินของการท่าเรือฯ 2,353 ไร่ มาเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์เพิ่มรายได้ให้กับองค์กรในระยะยาว ระยะเวลา 30 ปี

พอมาถึงยุครัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และยุคของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทางกระทรวงคมนาคม โดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เข้ามาสานต่อโครงการนี้ให้บรรลุตามเป้าหมายให้สำเร็จตามกรอบแผนให้ได้ โดยปรับแผนนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้และศึกษาปรับแผนรูปแบบใหม่ให้ล้ำสมัยและสอดคล้องกับยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

โดยมนพรระบุ กระทรวงคมนาคมได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีเป้าหมายเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น

ล่าสุด สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อปรับปรุงเนื้อหาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทางกระทรวงคาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ได้ ภายในปี 2568

ทั้งนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ดำเนินการทบทวนมาสเตอร์แพลนที่ศึกษามากว่า 10 ปี นำมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยย้ำเสมอว่า กทท.จะไม่มีการย้ายท่าเรือคลองเตยออกไป แต่จะมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการขนส่งสินค้าให้ใช้พื้นที่ลดลง แต่มีประสิทธิภาพ

และต้องแก้ปัญหาการจราจรติดขัด รวมไปถึงฝุ่นละออง PM2.5 โดยจะมีการนำพื้นที่ 2,353 ไร่ มาพัฒนาใช้ประสิทธิภาพสูงสุด โดยเบื้องต้นจะมีแนวคิดการพัฒนา 4 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย

1.การพัฒนาท่าเรือให้เป็นเมืองท่าและศูนย์กระจายสินค้า ประกอบด้วย โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าอาคารสำนักงาน และพื้นที่สนับสนุนท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Logistics Park)

2.การพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่หลังท่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน การต่อยอดโครงการพัฒนาทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) เพื่อเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพกับทางพิเศษ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า ลดปัญหาจราจรติดขัดรอบพื้นที่ท่าเรือ

3.การพัฒนาระบบการให้บริการโลจิสติกส์ เพื่อลดปัญหาการจราจร โดยพัฒนาพื้นที่จุดพักรถบรรทุก (Truck Parking) ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการจราจร (Truck Q)

4.การพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว การบริหารจัดการและพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ โดยพัฒนาโครงการท่าเรือกรุงเทพ (Bangkok Port Passenger Cruise Terminal) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งและการท่องเที่ยวทางน้ำ

⦁เคาะพัฒนาปรับโฉม 520 ไร่แรก

ความคืบหน้าล่าสุด กระทรวงคมนาคมได้จัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมาที่ประชุมมีมติให้เริ่มพิจารณาแนวทางการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ โดยเริ่มทบทวนผลการศึกษาแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตยฉบับปี 2562 ซึ่งจะเริ่มนำร่องในพื้นที่หน้าท่าและพื้นที่ริมน้ำจำนวน 520 ไร่ ที่อยู่บริเวณหน้าท่าเรือ

โดยกรอบการศึกษาหลักๆ จะเป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่หน้าท่าที่เกิดประโยชน์สูงสุด ในเชิงพาณิชย์ ต้องมีแผนธุรกิจ หรือ Business Model พื้นที่ 520 ไร่ เป็นโซนติดริมแม่น้ำ ถือเป็นพื้นที่มีศักยภาพที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นได้ทั้งท่าเรือท่องเที่ยว Cruise Terminal (ท่าเรือเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่) โครงการมิกซ์ยูส ศูนย์การค้า หรือช้อปปิ้งมอลล์ รวมไปถึงสนามกีฬา โรงแรม รวมถึงพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งหลักการพัฒนากิจกรรมควรมีความเชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ แต่เดิมพื้นที่นั้นใช้สำหรับดำเนินกิจการการขนถ่ายตู้สินค้า ขนถ่ายสินค้าเทกอง และวางตู้คอนเทนเนอร์ โดยใช้เต็มทุกพื้นที่ แต่ใช้งานได้ไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น เบื้องต้นจะพัฒนาพื้นที่ในการจัดเรียงตู้คอนเทนเนอร์ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และพัฒนาเป็นสมาร์ทพอร์ต รวมถึงเพิ่มโครงการมิกซ์ยูสต่างๆ ให้มีประโยชน์มากสุดต่อประเทศและประชาชน

สำหรับพื้นที่ 520 ไร่ จะเป็นพื้นที่ส่วนแรกที่จะเริ่มต้นศึกษารายละเอียดและรูปแบบการร่วมลงทุน โดย กทท.จะไม่ได้เป็นผู้ลงทุนเอง จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) แต่ในส่วนพื้นที่ที่เหลืออีกประมาณ 1,833 ไร่ จาก 2,353 ไร่นั้น ยังคงอยู่ในแผนการพัฒนาเช่นกัน แต่จะเริ่มไปทีละระยะ หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ประชาชนได้ทราบโดยทันที

โดย เกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ระบุ การศึกษาแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตยในครั้งนี้จะมุ่งเน้นการทบทวนจากผลการศึกษาเดิมในเรื่องการพัฒนาท่าเรือ 520 ไร่ ให้มีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาอาคารสำนักงาน โครงการคมนาคม และศูนย์โลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดรายได้ในระยะยาว และสร้างความเจริญให้กับกรุงเทพฯ

พื้นที่หน้าท่าประมาณ 520 ไร่ เป็นการจัดแนวพื้นที่ใหม่เน้นบริเวณหน้าท่าเรือ ยืนยันว่าจะไม่กระทบชุมชน โดยมีคอนเซ็ปต์พัฒนาเป็น Smart Commercial และเน้นการจัดระเบียบพื้นที่ ทั้งนี้ สำหรับกรอบการดำเนินงานเพื่อศึกษา Smart Commercial 520 ไร่ หลังการประชุมครั้งที่ 1/2568

ทาง กทท.จะเริ่มกระบวนการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) เพื่อจ้างที่ปรึกษาทันทีโดยคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาแล้วเสร็จเพื่อเสนอผลการศึกษาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงไตรมาส 1 2569 โดยการศึกษาจะควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจ การมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่โดยรอบด้วย จากนั้นหลังศึกษาเสร็จ ก็จะเห็นภาพว่าในพื้นที่ 520 ไร่ จะประกอบด้วยกิจกรรมใดบ้าง

ทั้งนี้ องค์ประกอบเบื้องต้นจะเป็นในรูปแบบมิกซ์ยูส มีท่าเทียบเรือสำราญ รับเรือครุยส์ และเรือยอชต์ โรงแรม ศูนย์การค้า และการบริหารจัดการพื้นที่หลังท่าตามเดิม แต่จะเปลี่ยนจากคลังสินค้าแนวราบที่วางตู้คอนเทนเนอร์เรียงรายเป็นอาคารแนวดิ่งที่จะช่วยลดการใช้พื้นที่ลงได้ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

⦁แผนพัฒนาคอมเพล็กซ์มากกว่าคำว่า ‘กาสิโน’

ประเด็นการสร้างสถานบันเทิงครบวงจร ทางฝั่งกระทรวงคมนาคมชี้แจงว่า ในส่วนของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่จะเกิดในพื้นที่นั้น ต้องรอให้กฎหมาย หรือ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …ผ่านก่อน จึงจะสามารถดำเนินการแผนต่อไปได้

โจทย์การศึกษาพัฒนาพื้นที่ท่าเรือนั้น ควรมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เป็นองค์ประกอบ โดยจะเน้นการพัฒนาพื้นที่ เป็นในส่วนของโครงการมิกซ์ยูส การสร้างสนามกีฬา การสร้างโรงละคร จุดจัดงานขายสินค้า หรือโรงแรม สนามกีฬาสวนสนุก ส่วนเรื่องการพัฒนาเป็นศูนย์เพื่อความบันเทิงครบวงจร ตามกรอบจะมีกาสิโนในสัดส่วน 10% เท่านั้น และจะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด

ขณะที่ กทท.ระบุ มีแผนการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพแต่เดิมอยู่แล้ว ที่เรียกว่า ท่าเรืออัจฉริยะ แต่พอเมื่อมีนโยบาย “เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” ของรัฐบาลเข้ามา ตรงนี้อาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจว่าจะเน้นปรับพื้นที่สำหรับพื้นที่บันเทิงครบวงจร ซึ่งจริงๆ แล้ว มีรายละเอียดมากกว่านั้น และตรงนี้ก็ต้องรอผลกฎหมายเช่นกันก่อนที่ กทท.จะเริ่มดำเนินการตามแผน หรือต้องปรับ

⦁หวังท่าเรือคลองเตยฟื้นท่องเที่ยว

นอกจากนี้ รูปแบบการศึกษาแผนออกแบบนั้น ก็จะมีการวางแผนจัดโซนรับการท่องเที่ยวเช่นกัน โดยจะมีการปรับความยาวหน้าท่าให้เหมาะสมกับสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความกว้างเฉลี่ยประมาณ 400-500 เมตรเพื่อความปลอดภัยของการจราจรทางน้ำ โดยเมื่อสร้างเสร็จจะสามารถรองรับเรือนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ อาทิ เรือยอชต์ หรือเรือสำราญ และคาดว่าเมื่อสร้างเสร็จตามแผนพร้อมเปิด จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1,000 คนต่อเที่ยวเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯผ่านทางน้ำ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของเมืองได้อย่างมีนัยสำคัญ

โดย กทท.ยังมีแนวคิดพัฒนาโครงการให้เป็นศูนย์รวมกิจกรรมทั้งด้านธุรกิจ การค้า การท่องเที่ยว และวิจัยพัฒนา คล้ายโมเดลที่ใช้ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีใต้ เช่น การรวมโซนศูนย์การค้า สำนักงาน และโซนปลอดภาษีไว้ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยว ซึ่งล่าสุดก็ได้มีการไปศึกษาดูงานที่เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่า มีไอเดียหลายอย่างที่ประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้

แต่อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบด้วย ซึ่ง กทท.ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และเตรียมพื้นที่รองรับการย้ายอย่างเหมาะสม โดยได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี

ฟากเอกชน ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาโดยองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) ระบุ เห็นด้วยพร้อมสนับสนุนแนวคิดพัฒนาท่าเรือคลองเตยให้เป็นโครงการมิกซ์ยูสและศูนย์พาณิชยกรรมขนาดใหญ่ในอนาคต โดยเริ่มจากนำร่อง 520 ไร่ก่อนซึ่งจริงๆ เป็นโครงการที่มีแนวคิดมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยรัฐบาลยุค พล.อ.ประยุทธ์ จนถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน

ถือเป็นทำเลศักยภาพอยู่กลางเมือง ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค รวมถึงรองรับกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว เช่น ท่าเรือสำราญ เป็นต้น รวมถึงเป็นการช่วยลดปัญหาการจราจรและมลพิษในพื้นที่เขตเมืองได้

โดยท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ตั้งอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ดังนั้นจึงเหมาะสมที่จะพัฒนาพื้นที่ที่เหลือไปในเชิงพาณิชย์ หรือเป็นพื้นที่ท่าเรือสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว ส่วนจะเห็นด้วยเรื่องของความเหมาะสมที่จะต้องมีกาสิโนหรือไม่นั้น มองว่าอย่าไปจำกัดนิยามแค่คำว่า “กาสิโน” ต้องเรียกว่าเป็น “อินเตอร์เนชั่นแนล คอมเพล็กซ์” ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านหากในแผนคอมเพล็กซ์จะมีการสร้างกาสิโนเป็นส่วนเล็กๆ แต่จริงๆ พอมีการนำ “กาสิโน” ขึ้นมานำเสนอเป็นประเด็นหลักในการถกเถียงหารือ จึงทำให้ดูเหมือนว่ากาสิโนเป็นส่วนหลักของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่

อย่างไรก็ตามหากแผนการพัฒนาที่ดิน “ท่าเรือคลองเตย” จะไม่มีกาสิโน หรือศูนย์เพื่อความบันเทิงครบวงจร ก็สนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้วในการพัฒนาเคลียร์พื้นที่ท่าเรือดังกล่าว เพราะท่าเรือคลองเตยเป็นหน้าตาหลักของเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจุบันที่ดินแถวนั้นค่อนข้างแออัดมาก มีทั้งตู้ขนสินค้าที่อัดแน่น มีรถบรรทุกเข้าออกเรียงกันในปริมาณที่มากเกินไป

ดังนั้นเชื่อว่า ถ้ามีการปรับเปลี่ยนสำเร็จตามแผนที่รัฐบาลได้กล่าวไว้ ภาพลักษณ์ท่าเรือคลองเตยจะเป็นระบบระเบียบ และดูสะอาดสบายตามากยิ่งขึ้น และมั่นใจว่าก็จะมีส่วนช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น

เพราะ “ท่าเรือคลองเตย” ก็จะกลายมาเป็นแลนด์มาร์กขนส่งชั้นนำและแหล่งการท่องเที่ยวยอดนิยมแน่นอน