“กยท-ดีสโตน”ร่วมผลิตล้อยางรถยนต์-มอไซค์ประชารัฐเปิดทางคนไทยใช้ของถูกแต่ได้คุณภาพ

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท.ร่วมกับ ผู้ผลิตยางดีสโตน ซึ่งเป็นแบรนด์ยางล้อของไทยที่ส่งขายทั่วโลก ร่วมผลิตยางล้อภายใต้แบรนด์ TH-TYRE (ไทย-ไทเอ่อร์) เพื่อเป็นยางล้อรถจากวัตถุดิบชั้นเยี่ยมของชาวสวนยางไทย ผลิตจากบริษัทคนไทยที่มีมาตรฐาน คุณภาพสากล และเป็นผลิตภัณฑ์ยางเกิดจากการบูรณาการจากองค์กร 3 ภาคส่วน ได้เเก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน เเละ ภาคเกษตรกร เบื้องต้นจะใช้ยางสำหรับโครงกรนี้ประมาณ 2,800 ตัน จากเป้าหมายรวมประมาณ 1แสนตัน

นายธีธัช กล่าวว่า ทั้งนี้ แบรนด์ TH-TYRE จะผลิตล้อยางที่สามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้ยานพาหนะ 3 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วย ยางล้อรถมอเตอร์ไซค์ (2 ล้อ) และ ยางล้อรถยนต์ ซึ่งตลาดที่รองรับได้แก่ รถแท็กซี่ รถตู้ รถยนต์ทั่วไป (4 ล้อ) จะผลิตยางประเภทละ 2 รุ่น ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ ผู้บริโภคที่เลือกใช้ยางแบรนด์ไทย-ไทเอ่อร์จะได้ใช้ยางล้อที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และที่สำคัญ ราคาเป็นถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป 20 – 30% เพราะใช้วัตถุดิบ และกระบวนการผลิตโดยคนไทย ภายในประเทศ ผู้สนใจยางแบรนด์ไทย-ไทเอ่อร์ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ กยท.ทุกสาขาทั่วประเทศ และ ตัวแทนจำหน่ายยางดีสโตน กว่า 400 สาขาทั่วประเทศเช่นกัน

“กยท. ได้ริเริ่มโครงการยางล้อประชารัฐ เป็นหนึ่งในโครงการที่จะมีการนำยางไปใช้มากที่สุด เพราะธุรกิจยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบจากยางพาราเป็นจำนวนมาก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยมีผลผลิตยางประมาณ 4.47 ล้านตัน สามารถนำไปใช้ภายในประเทศประมาณ 0.6 ล้านตัน คิดเป็น 13.42% ของผลผลิตทั้งหมด และยางส่วนใหญ่ถูกใช้ในการผลิตยางยานพาหนะ 0.34 ล้านตัน คิดเป็น 56.48% ของปริมาณยางทั้งหมด”นายธีธัช กล่าว

Advertisement

นายธีธัช กล่าวว่า ขณะเดียวกัน แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายในประเทศจะมีความเติบโตขึ้นในช่วงปี 2560 เนื่องมาจาก ตลาดส่งออกมีการขยายสู่ภูมิภาคอาเซียนตามแผนการส่งออกรถอีโคคาร์จากเงื่อนไขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ประกอบกับ ภาวะเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น ดังนั้น หากมีการนำผลผลิตยาง ไปผลิตยางล้อรถยนต์นั่งที่มีส่วนผสมของยางพาราเพิ่มขึ้น และที่สำคัญ ได้มาตรฐานคุณภาพในราคาต่ำกว่าท้องตลาด จะเป็นโอกาสในการนำวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศ เพิ่มรายได้ให้กับประเทศชาติมากขึ้นด้วยมีการส่งออกวัตถุดิบยางประเภทต่างๆ เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม

นายธีธัช กล่าวว่า ส่วนปริมาณยางในสต๊อกรัฐบาลเดิม 3.1 แสนตัน ขณะนี้ได้ประมูลไปแล้วจำนวนหนึ่ง เหลือประมาณ 1 แสนตัน ที่มีการเปิดประมูลครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 แต่ไม่มีผู้สนใจเข้ายื่นประมุลยางในรอบนั้น ทางกยท. จึงได้นำประมาณยางทั้งหมดประมาณ 1 แสนตัด เข้าหารือในคณะกรรมการ(บอร์ด) กยท.เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 บอร์ด กยท.มีมติให้นำยางนี้ออกขาย โดยไม่ต้องประมูล แต่ให้ผู้สนใจซื้อเข้ามาเสนอซื้อในราคาที่ กยท.รับได้ โดยราคาจะไม่ต่ำกว่าราคาที่ประมูลมาในครั้งก่อน หรือไม่ต่ำกว่าราคาตลาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image