“พพ.”รอผลศึกษาโซลาร์รูฟท็อปเสรีจากจุฬาฯก่อนเสนอรบ.เคาะ

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะสรุปผลการศึกษาข้อดีและข้อเสียของโครงการนำร่องการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอย่างเสรีพ.ศ.2559 หรือโซลาร์รูฟท็อปเสรีภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้พพ.นำมาประมวลและเสนอระดับนโยบายในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเสรีภายในปลายปีนี้ สำหรับอัตราค่าไฟที่จะรับซื้อคงจะไม่สูงเท่ากับอัตรารับซื้อตามต้นทุนแท้จริง(เอฟไอที) 4.12 บาทต่อหน่วยแน่นอน โดยจะมีการสรุปอัตรารับซื้อที่ชัดเจนอีกครั้ง รวมถึงปริมาณการรับซื้อที่เหมาะสม เบื้องต้นมากกว่า 100 เมกะวัตต์ นอกจากนี้จะกำหนดสัดส่วนการรับซื้อระหว่างหลังคาบ้านที่อยู่อาศัยและอาคารโรงงานชัดเจน

นายประพนธ์กล่าวว่า สำหรับโซลาร์รูฟท็อปเสรีนำร่องได้มีการเปิดรับเสนอเข้าโครงการ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2559 จำนวน 100 เมกะวัตต์ แบ่งปริมาณตามกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ออกเป็น พื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พื้นที่ละ 50 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นประเภทบ้านที่อยู่อาศัยจำนวน 10 เมกะวัตต์ ขนาดติดตั้งไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ และประเภทอาคารธุรกิจ จำนวน 40 เมกะวัตต์ ขนาดติดตั้ง 10-1,000 กิโลวัตต์โดยมีผู้เสนอยื่นเข้าโครงการคิดเป็น 36 เมกะวัตต์

“ที่ผ่านมามีคนเข้าโครงการต่ำกว่าเป้าเพราะรัฐไม่ได้ซื้อไฟเข้าระบบ โดยรัฐกำหนดให้ต้องจัมพ์สายส่งกับการไฟฟ้าภายในสิ้นเดือนนี้หากไม่ดำเนินการก็จะถูกตัดสิทธิ”นายประพนธ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image