เสียงสะท้อน… ดันจีเอ็นพีชี้วัดเศรษฐกิจ

หมายเหตุ – ความเห็นกรณีรัฐบาลมีแนวคิดนำตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นพี) เพื่อประเมินภาพเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่ง นอกเหนือจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยให้เหตุผลว่า ตัวเลขจีดีพีเป็นการวัดผลผลิตของคนไทยและต่างชาติที่เกิดขึ้นในประเทศ ขณะที่จีเอ็นพีเป็นการวัดมูลค่าสินค้า การลงทุนของคนไทยทั้งในและต่างประเทศ เมื่อมีรายได้จึงนำกลับมาในประเทศ เพราะนักลงทุนไทยออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น จึงมีรายได้นำกลับมาพัฒนาประเทศแทนการส่งออก จึงเป็นตัววัดหนึ่งที่อาจจะนำมาวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้

สุวิทย์ เมษินทรีย์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

แนวโน้มการค้าการลงทุนเปลี่ยนไป หลายประเทศพึ่งพาในประเทศมากขึ้น ลดการนำเข้า อัตราการขยายตัวส่งออกสินค้าลดลง แต่การส่งออกภาคบริการขยายตัวเพิ่มขึ้น นักลงทุนไทยมีแนวโน้มไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น ต่อไปผู้ประกอบการไทยเก่งขึ้น ไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ทำให้รายได้จากการส่งออกน้อยลง และรายได้จะมาจากต่างประเทศมากขึ้น ตรงนี้ยังไม่มีตัววัดชัดเจน แต่ต่อไปต้องมีการเก็บข้อมูลผู้ประกอบการที่ไปลงทุนโดยเฉพาะตลาดซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) รวมทั้งการไปซื้อกิจการในต่างประเทศ อาทิ ประเทศในยุโรปมากขึ้น ทั้งหมดจึงมีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นพี)

ดังนั้น อนาคตไทยจะไม่มีการเปลี่ยนตัววัดเศรษฐกิจไทยจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นจีเอ็นพี แต่จะดูคู่กัน เพื่อให้เห็นถึงสถานภาพของเศรษฐกิจไทยในเวทีโลกและในประเทศ เพราะภาพใหญ่ต้องดูจีดีพีกับจีเอ็นพีคู่กัน ส่วนการดูภาพย่อยของการค้าระหว่างประเทศ ไม่ใช่แค่ดูตัวเดียวที่เป็นตัวเลขส่งออก ต้องดู 4 ตัวพร้อมกัน ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกสินค้า ตัวเลขการส่งออกบริการ ตัวเลขการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) และตัวเลขการลงทุนของธุรกิจไทยในต่างประเทศ รวมเรียกว่า Balance Score Card (บาลานซ์ สกอร์ การ์ด)

สำหรับจีดีพีมองว่า เป็นการรวมผลผลิตที่เกิดในประเทศ ทั้งที่มาจากคนไทยและคนต่างประเทศ ส่วนจีเอ็นพีนับจากผลผลิตฝีมือคนไทยที่สร้างในประเทศรวมกับที่ไปลงทุนในต่างประเทศแล้วเอากลับเข้ามา ถึงแม้ว่าตัวเลขส่งออกจะน้อยลง แต่พบว่าไปโผล่ที่การลงทุนต่างประเทศมากขึ้น บางครั้งการส่งออกสินค้าลดลง แต่ส่งออกบริการขยายตัวมากขึ้น การมองตัวชี้วัดอยู่ตัวเดียวไม่สามารถบอกได้ว่าการค้าการลงทุนไทยเป็นอย่างไรแล้ว ต้องดูให้ครบทั้ง 4 ตัว ถ้าดูครบแล้วเมื่อบางตัวน้อยลง บางตัวมากขึ้น เราก็จะไม่กลัว เพราะเห็นที่มาที่ไป อย่างกรณีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีการส่งออกน้อยลง เพราะไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ถ้าเรามัวแต่วัดเรื่องส่งออกสินค้าอย่างเดียว แล้วก็มานั่งสงสัยว่าทำไมตัวเลขหายไป ความจริงอาจจะกลับคืนมาในรูปการลงทุนต่างประเทศ

Advertisement

อนาคต หากเราจะดูว่าไทยเก่งหรือเปล่า ทำความมั่งคั่งได้หรือเปล่า ต้องดูทั้ง 4 ตัว แต่เดิมเรามองตัวชี้วัดเศรษฐกิจประเทศที่การส่งออกกับนำเข้าเป็นหลัก ซึ่งวัดตัวเลขได้ง่าย พอส่งออกได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันและราคาทองที่ลดลงเข้าไปมูลค่าก็ลดลงตามไปมาก โดยราคาน้ำมันลดลงจะเป็นภาพที่อยู่นานพอสมควร แนวโน้มส่งออกจะเติบโตบวกหรือลบขึ้นกับราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ อนาคตเราจะทู่ซี้วัดส่งออกตัวเดียวแล้วมานั่งบอกอาการความมั่งคั่งของประเทศได้อย่างไร เป็นแค่ 1 ใน 4 ตัวชี้วัดที่ต้องดูไปพร้อมๆ กัน

ทั้งนี้ ความมั่งคั่งในกระแสโลกาภิวัตน์ไม่ใช่เรื่องอยู่กับที่แล้วเราได้อะไรเสียอะไร แต่เป็นเรื่องการเลื่อนไหลอย่างเสรีของสินค้า บริการ และทุน รวมถึงทุนมนุษย์ด้วย ซึ่งไทยยังไม่ได้นำตัวชี้การค้าภาคบริการมาใช้ อย่างหมอไทยไปทำงานต่างประเทศนำรายได้กลับมา แรงงานไทยในซาอุดีอาระเบีย วิศวกรที่ส่งไปทำต่างประเทศแล้วเอารายได้กลับมา ซึ่งอาจจะเป็นอะไรที่วัดยากขึ้น รายได้เข้าประเทศต่อไปนี้อาจจะไม่ได้มาจากการส่งออก ขายสินค้าอย่างเดียว แต่จะมาจากภาคบริการด้วย อย่างอีคอมเมิร์ซก็เป็นภาคบริการที่สร้างรายได้ หรือชาวต่างประเทศเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลไทย เหล่านี้ล้วนเป็นตัวเลขภาคบริการที่มีแนวโน้มใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ถามว่าตรงนี้ไม่นับ แล้วไม่ใช่ความมั่งคั่งของประเทศหรือ จริงๆ มันใช่ เดิมเราวัดตรงนี้ยากเลยไม่วัด เราเอาเรื่องง่ายๆ ของสินค้ามาพูด

กระทรวงพาณิชย์จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมาหารือกันทั้งกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นต้น อาจจะเชิญนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ มาเป็นประธานการประชุมหารือ เรื่องการใช้ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทย โดยหลักแล้วจะคุยว่าจะมีการปรับดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งเรามีตัวอย่างจากหลายประเทศที่ใช้ทั้ง 4 ตัวแล้ว อาทิ สิงคโปร์ โดยจะดูว่าไทยมีข้อมูลเหล่านี้ในมือหรือไม่ หากมีอาจจะต้องใช้เวลาเก็บเป็นรายไตรมาสก่อน เป็นไปได้ในอนาคตอาจจะปรับเป็นรายเดือนได้ บางตัวอาจไม่ได้ครบถ้วน อย่างการลงทุนต่างประเทศก็ต้องหาวิธีเก็บข้อมูล ว่าจะเก็บข้อมูลเอกชนได้อย่างไรว่าไปลงทุนต่างประเทศ

Advertisement

เนื่องจากเป็นข้อมูลที่เก็บยาก ตรงนี้เราจะหารือถึงการได้มาซึ่งข้อมูลตรงนี้เพื่อให้เห็นภาพรวมสะท้อนเศรษฐกิจ แม้ว่าบางข้อมูลอาจจะหายาก ถ้าคุ้มและสะท้อนความเป็นจริงของภาพเศรษฐกิจก็ต้องทำ

สุวิทย์ เมษินทรีย์-เชาว์ เก่งชน-เจน นำชัยศิริ
สุวิทย์ เมษินทรีย์-เชาว์ เก่งชน-เจน นำชัยศิริ

เจน นำชัยศิริ
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

แนวคิดการนำตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจตัวอื่น อย่างผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นพี) มาดูร่วมกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นแนวคิดที่ผมเห็นด้วยมานานแล้ว เพื่อดูภาพที่ชัดเจนขึ้นของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการไทยได้ไปลงทุนในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ก่อสร้าง หรืออุตสาหกรรมอาหาร แล้วยิ่งปัจจุบันเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการแล้ว แทนที่จะมุ่งเป็นฐานการผลิตเดียวกัน ตลาดเดียวกัน ปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงควรนำจีเอ็นพีมาใช้ในการดูความมั่งคั่งด้วย ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะนำจีเอ็นพีมาเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจร่วมกันกับจีดีพี

เชาว์ เก่งชน
กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ตัวเลขจีดีพีเป็นตัววัดกิจกรรมและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้งหมดในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสัญชาติใดก็ตาม ซึ่งหากใช้จีพีดีอาจจะไม่เห็นตัวเลขการออกไปลงทุนยังต่างประเทศของนักลงทุนไทย ซึ่งขณะนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวธุรกิจและการแสวงหาต้นทุนที่ถูกลง

ส่วนจีเอ็นพีจะวัดกิจกรรมและมูลค่าเศรษฐกิจเฉพาะบุคคลสัญชาติไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั้งหมด แต่จะไม่รวมกิจกรรมที่ต่างชาติเข้ามาลงทุน ซึ่งไทยก็มีการสนับสนุนการเข้ามาลงทุนของต่างชาติผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หากใช้จีเอ็นพีก็จะไม่นับรวมตัวเลขการลงทุนต่างชาติที่เข้ามา ซึ่งการใช้ตัวเลขใดในการวิเคราะห์ก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไปและสะท้อนภาพที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์เศรษฐกิจนั้นไม่จำเป็นต้องใช้ตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง สามารถใช้ได้ทั้งจีดีพีและจีเอ็นพีในการวิเคราะห์เศรษฐกิจได้ โดยในต่างประเทศ อย่างญี่ปุ่น ก็มีการใช้ตัวเลขจีดีพีและจีเอ็นพีในการวิเคราะห์เศรษฐกิจ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนในต่างประเทศสุทธิ ตัวเลขจีเอ็นพีจึงเติบโตมากกว่าตัวเลขจีดีพี เช่นเดียวกับเยอรมนีที่มีการใช้จีเอ็นพีในการวิเคราะห์เช่นกัน ซึ่งประเทศเหล่านี้มีต้นทุนการลงทุนในประเทศที่สูงขึ้น ต้องกระจายการลงทุนออกมายังประเทศอื่นที่ต้นทุนถูกกว่า ดังนั้นการวัดโดยจีเอ็นพีทำให้เห็นภาพเศรษฐกิจที่ยังมีการขยายตัวได้

ดังนั้น หากมีการนำตัวเลขจีดีพีและจีเอ็นพีมาพิจารณาในการวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยก็ถือว่าเป็นแนวทางที่ดี เพราะจะได้เห็นตัวเลขว่านักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศมากน้อยเพียงใด ทำให้การวิเคราะห์เศรษฐกิจเห็นมุมมองที่กว้างและมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเทรนด์ของโลกขณะนี้คือการออกไปลงทุนยังต่างประเทศ ช่วงที่ผ่านมาก็มีนักลงทุนไทยจำนวนมากที่ออกไปลงทุน ทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างซีแอลเอ็มวีและประเทศอื่น ๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image