‘เกียรติธนาขนส่ง’ ตั้งบ.ลูกขยายธุรกิจโซลูชั่นขับขี่ปลอดภัย ชิมลางรถบรรทุก ก่อนทำตลาดไมโครบัส-รถส่วนบุคคล

นายคีรินทร์ ชูธรรมสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกียรติธนาขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการโซลูชั่นการขนส่งและโลจิสติกส์สินค้าวัตถุอันตรายและสินค้าพิเศษ เปิดเผยว่า กลุ่มเกียรติธนาขนส่งได้ก่อตั้งบริษัท เคพีจี จำกัด ขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการโซลูชั่นด้านความปลอดภัยและการปรับปรุงประสิทธิภาพการขับขี่รถด้วยเทคโนโลยีใหม่ เนื่องจากมองว่าไทยยังไม่มีเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันการขับขี่ปลอดภัยโดยตรง โดยเฉพาะรถบรรทุกขนส่งและรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ อาทิ รถทัวร์ ที่ต้องมีการรักษาความปลอดภัยระดับสูงสุด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งสินค้าและการบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก

นายคีรินทร์กล่าวว่า สำหรับโซลูชั่นด้านความปลอดภัยและการปรับปรุงประสิทธิภาพการขับขี่รถนี้ บริษัทจะนำเข้าและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีจากการ์เดียนซิสเต็ม ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยด้านการขับขี่จากออสเตรเลีย ผ่านบริษัท เคจีพี ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนรายแรกของประเทศไทย โดยตั้งเป้าว่าในปีนี้กลุ่มเกียรติธนาขนส่งจะมีรายได้ประมาณ 900 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้น 10% จากการให้บริการด้านการขนส่งเคมี เอ็นจีวี ปิโตรเลียมและน้ำมันดิบ รวมถึงโซลูชั่นด้านความปลอดภัยในการขับขี่ ซึ่งตั้งเป้าว่าบริษัทจะจำหน่ายโซลูชั่นด้านความปลอดภัยในการขับขี่ได้ประมาณ 1,500 เครื่อง ทั้งในรูปแบบการซื้อและการเช่า ในราคา 4,500-59,500 บาท โดยในขณะนี้มียอดจำหน่ายแล้วประมาณ 400-500 เครื่อง

“ในช่วงเริ่มต้นนี้จะเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่ขนส่งสินค้าเคมี แก๊ส และสินค้าอันตรายก่อน และรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ก่อน หลังจากนี้คาดว่าจะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มรถโดยสารสาธารณะขนาดเล็ก อาทิ รถตู้ ไมโครบัส รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล เพราะในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาได้มีการเข้าไปคุยกับกระทรวงคมนาคม และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) มูลนิธิเมาไม่ขับแล้ว ได้รับการตอบรับดี เนื่องจากเทคโนโลยีนี้สามารถช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้จริงถึง 90% มีระบบเตือนผู้ขับขี่ผ่านการสั่นที่เก้าอี้คนขับและเสียงเตือนในรถ” นายคีรินทร์กล่าว

นายเมฆ มนต์เสรีนุสรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคพีจี จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าและเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยในการขับขี่และระบบป้องกันอุบัติเหตุจากออสเตรเลีย เปิดเผยว่า มั่นใจว่าโซลูชั่นด้านความปลอดภัยนี้จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้จริง เนื่องจากพบว่าอุบัติเหตุบนถนนกว่า 70% เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ทั้งจากการขับรถเร็วเกินกำหนด การหลับใน และการละสายตา ซึ่งเกิดจากการไม่ตั้งใจระหว่างการขับขี่รถ อาทิ การชมวิวข้างทาง การหวีผม อย่างไรก็ตามมองว่ามาตรการลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมชั่วโมงการขับขี่ การพักผ่อนของคนขับ การจัดหลักสูตรขับขี่ปลอดภัย นโยบายหยุดงาน การสุ่มตรวจ รวมถึงการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีเพื่อติดตั้งจีพีเอสและการติดตั้งระบบบันทึกภาพกล้องวงจรปิด (วีไอเอ็มเอส) ขณะขับรถ ยังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากต้นเหตุอย่างแท้จริงได้

Advertisement

“อย่างมาตรการรักษาความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะของรัฐบาล โดยการกำหนดให้รถโดยสารขนาดเล็กหรือรถตู้จะต้องติดตั้งจีพีเอส มองว่าจะช่วยเช็ครถโดยสารไม่ให้ออกนอกเส้นทางได้ หรือสามารถติดตามได้ว่ารถอยู่ตรงจุดไหน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด อย่างการหลับในหรือการละสายตาระหว่างขับขี่ได้” นายเมฆกล่าว

นายเมฆกล่าวว่า ส่วนในอนาคตหากมีการหารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อเข้าไปช่วยแก้ปัญหาความปลอดภัยในการขับขี่ แล้วประเด็นค่าติดตั้งโซลูชั่นจะแพงไปสำหรับผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็ก อย่างผู้ให้บริการรถตู้ จนทำให้เกิดอุปสรรคในการแก้ปัญหาหรือไม่นั้น เบื้องต้นมองว่าราคาการติดตั้งระบบเป็นราคาที่อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จึงคาดว่าจะไม่มีปัญหาในการใช้งาน หากมีการขยายกลุ่มการใช้งานไปยังกลุ่มรถโดยสารขนาดเล็กและรถยนต์ส่วนบุคคลที่ต้องการติดตั้งระบบความปลอดภัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image