ตรวจกระเป๋าžครัวเรือน คนไทยยุค4.0 มีหนี้เร็ว นาน เยอะž

ต้อนรับ ”วันแรงงาน”Ž ด้วยผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ศึกษาความต้องการและสถานะทางการเงินของผู้มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน พบว่า ปี 2560 กลุ่มตัวอย่าง 97% ระบุมีภาระหนี้ และเพิ่มขึ้นจากการสำรวจปี 2559 กลุ่มตัวอย่าง 95.9% ระบุมีภาระหนี้ โดยแรงงานไทยผู้มีรายได้น้อย แบกภาระหนี้เฉลี่ยที่ 131,479 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นถึง 10.43% จากปีก่อน ทำสถิติมูลค่าหนี้ต่อครัวเรือนสูงที่สุดในรอบ 8 ปี
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุถึงผลการสำรวจในครั้งนี้ว่า สาเหตุที่มูลค่าหนี้ครัวเรือนแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท เพิ่มสูงขึ้น เพราะแรงงานมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย เนื่องจากได้รับผลพวงจากเศรษฐกิจปีที่ผ่านย่ำแย่ และหลายปัจจัยไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ได้แก่ ราคาสินค้าเกษตรหลักของไทยทุกตัวตกต่ำ ส่งออกไม่ดีนัก เศรษฐกิจโลกแย่ และไทยปราบทัวร์ศูนย์เหรียญกระทบนักท่องเที่ยวจากจีน แต่จะเห็นได้ว่ากลุ่มแรงงานเริ่มมีหนี้นอกระบบลดลงมาอยู่ที่ 53.6% ต่ำสุดในรอบ 4 ปี นั้นเป็นเพราะรัฐบาลออกมาตรการแก้หนี้นอกระบบ และพยายามหนุนให้คนกลับมาอยู่ในระบบมากขึ้น อีกทั้งแรงงานไทยก็เริ่มปรับตัวให้รายจ่ายพอกับรายได้ลดภาระหนี้นอกระบบ

สอดคล้องกับข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ข้อมูลในระหว่างสัมมนาพิเศษ ภาวะเศรษฐกิจการเงิน การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและความท้าทายของตลาดการเงินไทยในอนาคตŽ โดยพูดถึงหัวข้อที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า เท่าที่ดูจากตัวเลข ประชาชนตระหนักเรื่องการมีหนี้มากขึ้น เพราะเท่าที่ดูตัวเลขในภาพรวม จะเห็นได้ว่าเมื่อประชาชนตระหนักว่ามีหนี้มากขึ้น ก็จะเห็นการลดการใช้จ่ายในบางหมวด เราสามารถดูได้ว่ากระบวนการใช้จ่ายของเขาเป็นอย่างไร สิ่งที่เราเห็นคือเมื่อมีหนี้มากขึ้นตัวเลขการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยจะลดลง แต่สินค้าที่มีความจำเป็นไม่ได้ลดลง
ประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือนเป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ทำให้สังคมรับรู้มาตั้งแต่ช่วง 5-6 ปีที่แล้ว เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาในประเด็นนี้ หนี้ที่ดีต้องมาควบคู่กับการทำความเข้าใจ โดย หนี้Ž ที่ดีนั้นควรเป็นหนี้ที่เมื่อประชาชนมีแล้ว ต้องรู้ว่าสามารถบริหารจัดการได้ แม้ว่าตอนจะก่อหนี้จะมีความรู้สึกว่ามีหนี้แล้วดี เพราะจะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ผู้จะเป็นหนี้ต้องคิดถึงอยู่เสมอคือหากวันหนึ่งเกิดปัญหาทางการเงินขึ้นมากะทันหัน เช่น ผู้นำครอบครัวเกิดอุบัติเหตุ คุณจะมีวิธีหรือมีทางกอบกู้ตัวเองขึ้นมาได้หรือไม่

นางรุ่งยังให้ข้อมูลอีกว่า จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าคนไทยอยู่ในภาวะที่มีหนี้เร็ว หนี้อยู่นานเมื่ออายุมากขึ้น จะพูดสั้นๆ คือคนไทย มีหนี้เร็ว
มีหนี้นาน มีหนี้เยอะŽ อธิบายให้ละเอียดคือ ในส่วนของการมีหนี้เร็ว นั้นจะเห็นได้จากผลการศึกษาที่พบว่า หากดูสัดส่วนของคนที่เป็นหนี้แต่ละช่วงอายุจริงๆ
จุดแรกที่คนเริ่มเป็นหนี้คืออายุไม่ถึง 30 ปี

Advertisement

แปลว่าคนของไทยอายุยังไม่ถึง 30 ก็มีหนี้เยอะ ปกติควรจะต้องเกิดขึ้นในกลุ่มคนอายุ 40-50 ปี แต่เด็กไทยเริ่มมีหนี้แล้ว และช่วงอายุคนเป็นหนี้มากที่สุดคืออายุ 31 ปี เป็นเรื่องที่แปลก เพราะในความคิดของคนทั่วไปอาจจะต้องรอให้มีหน้าที่การงานมั่นคงจึงจะเป็นหนี้ ข้อมูลนี้มาจากการรวบรวมข้อมูลการเงินที่อยู่ในระบบเท่านั้น อีกกรณีหนึ่งคือข้อมูลการเป็นหนี้ในช่วงสูงวัยพบว่าคนอายุ 60 ปี ยังมีก้อนหนี้จำนวนหนึ่ง คืออายุเยอะยังต้องทำงาน เป็นคนสูงอายุที่ไม่สามารถไปเอ็นจอยไลฟ์ได้ หรือต้องพึ่งพิงจากคนอื่น ความพร้อมของเรามีน้อยและการเก็บเงินเพื่อเกษียณก็ยังน้อย เราต้องทำให้คนกลุ่มนี้สามารถมีคุณภาพอยู่ได้ เพื่อลดภาระภาครัฐและสามารถนำเงินไปพัฒนาเศรษฐกิจต่อได้

ขณะที่นักวิชาการอย่าง นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับนักบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจที่ไม่ดีก็มีผลต่อระดับนี้ครัวเรือนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะหนี้จะมาจากรายได้ที่น้อยกว่ารายจ่าย เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีนายจ้างก็จะลดค่าทำงานล่วงเวลาหรือโอที รายได้พิเศษที่เคยได้ก็ไม่มี ขณะที่ค่าครองชีพยังเหมือนเดิม

นอกจากนี้ รายได้ขั้นต่ำกับค่าครองชีพของประเทศไทยยังมีความไม่สมดุลอยู่ รายได้ขั้นต่ำของเรา 1 วันสามารถทานอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่างแมคโดนัลด์ได้เพียง 1 มื้อครึ่ง ขณะที่รายได้ขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกาเพียง 1 ชั่วโมง สามารถทานแมคโดนัลด์ได้ 3 มื้อ อย่างรายได้ขั้นต่ำของแรงงานอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน เดือนหนึ่งทำงาน 26 วัน เท่ากับว่ามีรายได้ 7,800 บาทต่อเดือนเท่านั้น รายจ่ายแต่ละเดือนยังมีค่าเช่าห้อง ค่าใช้จ่ายกินใช้ ค่าเดินทาง นอกจากค่าแรงที่ไม่สมดุลกับรายได้แล้ว คนไทยยังมีวัฒนธรรมการบริโภคที่เลียนแบบกัน จึงทำให้มีโอกาสจะซื้อสินค้าที่ไม่มีความจำเป็นกับชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์มือถือที่มีฟังก์ชั่นการใช้ง่าย
มากๆ แต่ชีวิตประจำวันกลับใช้แค่โทรเข้า รับสายและส่งข้อความในโลกโซเชียลเท่านั้น

Advertisement

สำหรับวิธีการแก้ปัญหารายได้ที่เหลื่อมล้ำกับรายจ่ายในระยะยาวนั้น ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มความสามารถแรงงาน นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับการศึกษา เพราะการศึกษาที่ดีนำมาซึ่งเงินเดือนและมูลค่าเพิ่มของรายได้ที่ดี

ขณะที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุ ผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดังกล่าว สศค.ไม่รู้สึกกังวล เพราะเท่าที่ดูผลสำรวจพบว่าการก่อหนี้ส่วนหนึ่งเพื่อซื้อทรัพย์สินคงทน อาทิ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น จากในอดีตเป็นหนี้จากการนำมาใช้จ่ายทั่วไปเป็นหลัก และเท่าที่ดู หอการค้าสำรวจจากประชาชนกว่า 1 พันตัวอย่าง เท่านั้น ปกติการอ้างอิงตัวหนี้ครัวเรือน สศค.จะใช้ข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นการรวบรวมหนี้ที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงินของบุคคลธรรมดา 10 ล้านคน

จากข้อมูลล่าสุดของ ธปท.พบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2559 ลดลงครั้งแรกในรอบ 11 ปี โดยตัวเลขหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 4 ปี 2559 อยู่ที่ 11.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 79.89% จากปีก่อนหน้านี้อยู่ที่ 81-82% โดยมีแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2560 มีแนวโน้มยืนต่ำกว่า 80% ต่อจีพีตลอดทั้งปี ในปี 2560 มีแนวโน้มที่เห็นตัวเลขหนี้ครัวเรือนลดลงเป็นการลดลงปีที่ 2 ติดต่อกัน และถ้าเทียบกับภูมิภาคเช่นมาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยมีหนี้ครัวเรือนในระดับระดับใกล้เคียงกับ 2 ประเทศนี้ หนี้ครัวเรือนของไทยที่สูงก่อนหน้านี้มาจากการน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 และโครงการรถยนต์คันแรกในปี 2555 เมื่อประชาชนเริ่มผ่อนชำระหนี้ โดยเฉพาะรถยนต์คันแรกเริ่มผ่อนหมดในช่วงปี 2559 เป็นต้นมา หนี้ครัวเรือนเริ่มปรับลดลง ถ้าไปดูเนื้อในของหนี้ครัวเรือนของประเทศ พบว่าส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อในระบบที่มีหลักประกันและมีความเสี่ยงต่ำถึง 60% คือ อสังหาริมทรัพย์ 27% รถยนต์ 15% และสินเชื่อเพื่อการดำเนินธุรกิจ 18%

ผลสำรวจหอการค้าไทย ระบุถึงการเป็นหนี้ของผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท สูงสุดในรอบ 8 ปี นั้น กระทรวงการคลังมีนโยบายเพื่อช่วยดูแลความเป็นอยู่ประชาชนที่มีรายได้น้อย เช่น โครงการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย กำหนดรายได้กลุ่มที่จะรับการช่วยเหลือไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี เพื่อดูว่ากลุ่มคนดังกล่าว มีความต้องการให้รัฐช่วยอะไร รวมถึงกระทรวงการคลัง มีสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ พิโคไฟแนนซ์ เพื่อนำมาแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของประชาชน รวมถึงมาแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยสินเชื่อทั้ง 2 ชนิดคิดดอกเบี้ย 36% ต่อปี ต่ำกว่าหนี้นอกระบบมากŽ นายกฤษฎากล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image