กกร.เล็งปรับลดจีดีพี59 ส่งออกวูบหนัก เจอภัยแล้ง มาตรการรัฐยังกระตุ้นไม่ขึ้น

สุพันธุ์ มงคลสุธี (แฟ้มภาพ)

ที่โรงแรมดุสิตธานี มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าไทย ประจำเดือนมีนาคม โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานส.อ.ท. ในนามประธาน กกร. เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า กกร. ได้ประชุมสรุปภาวะเศรษฐกิจ เดือนมกราคม 2559 พบว่าภาพรวมเศรษฐกิจยังคงเริ่มต้นไม่สดใส อาจมีการปรับลดตัวเลขคาดการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบทุกภาคส่วนแผ่วลงจากเดือนก่อน(ธันวาคม 2558) ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวเป็นภาคเศรษฐกิจเดียวที่ยังคงมีโมเมนตัมเติบโตได้ต่อเนื่อง นอกจากนี้ภาคส่งออกในเดือนมกราคม ยังหดตัวถึง 8.9% หนักสุดในรอบกว่า 3 ปี โดยมูลค่าส่งออกกลับมาเหลือระดับ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการหดตัวในแทบทุกตลาด แม้แต่ตลาดซีแอลเอ็มวี(กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) ซึ่งปี 2558 สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งถึง 7.7% กลับชะลอลงที่ 1.2% สาเหตุหลักจากมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และปิโตรเคมิคอล ที่ลดลงประมาณ 30% เพราะผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วน 10% ของการส่งออกไปซีแอลเอ็มวี เนื่องจากราคาน้ำมันลดลง

“นอกจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจนกระทบต่อการส่งออกของไทย และหลายประเทศต่างส่งออกลดลง อาทิ จีน หรือเวียดนามที่ลดลงทั้งที่บวกตลอด ขณะเดียวกันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังเห็นผลไม่ชัด ประกอบกับปัญหาภัยแล้งที่ส่งสัญญาณขยายวงกว้างมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้มีแนวโน้มปรับจีดีพีลง จากคาดการณ์ 3-3.5%” นายสุพันธุ์กล่าวและว่า ดังนั้น กกร.จะรณรงค์ให้ภาคเอกชน ร่วมกันประหยัดการใช้น้ำ ตั้งเป้าจะลดการใช้น้ำลง 20-30% ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งกิจกรรมการรณรงค์เรื่องน้ำจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ และจะเน้นในผู้ใช้น้ำรายใหญ่ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นหลัก จากนั้นจะรณรงค์ในขนาดกลางและเล็กต่อไป

นายสุพันธุ์กล่าวว่า กกร.ยังหารือถึงแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้ประชากรต่อหัวต่อปีที่ปัจจุบันอยู่ที่ 5,000-6,000 เหรียญสหรัฐต่อคน เป็น 10,000 เหรียญสหรัฐ ภายใน 5 ปี โดยตั้งคณะทำงานภายในกกร.เพื่อกระตุ้นภาคเอกชนก่อน และส่งต่อไปยังภาครัฐ โดยมองว่าการที่ไทยดูแต่รายได้ส่งออก-นำเข้าอาจไม่ได้ครอบคลุมตัวเลขเศรษฐกิจไทยจริง ตรงกันข้ามการดูรายได้ของประชาชนที่มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากกิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ รายได้เกษตร การจ้างงาน การกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ จะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยสะท้อนภาพจริงมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image