เอสเอ็มอียังกังวลต้นทุนเพิ่มจากค่าแรง-ราคาน้ำมัน ทีเอ็มบีหวังครึ่งปีหลังศก.หนุนฟื้น

 

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ฟื้นตัวดีขึ้น ตามแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารประเมินว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปีนี้จะขยายตัว 3.3% มีปัจจัยหนุนมาจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และโครงการลงทุนของ 17 กลุ่มคลัสเตอร์ ราคาสินค้าเกษตรที่ฟื้นจะช่วยให้มีการกำลังซื้อฟื้นตัว ส่งผลต่อรายได้ของเอสเอ็มอี ทั้งนี้ มาตรการช่วยเอสเอ็มอีวงเงินกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท โดยผ่านการให้สินเชื่อธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาในระบบกลางปีนี้จะช่วยเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี ขณะที่การส่งออกขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดโดยไตรมาสแรกขยายตัว 4.9% ทำให้ธนาคารอาจจะมีการปรับประมาณการตัวเลขส่งออกใหม่ คาดจะอยู่ในกรอบ 2.0-5.0% จากเดิมที่ 2.0% ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งอาจจะมีผลให้แนวโน้มอัตราการขยายตัวจีดีพีปีนี้ดีขึ้น

สำหรับปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ มองว่าความเสี่ยงในประเทศลดลง แต่ยังต้องติดตามปัจจัยต่างประเทศ ทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง เป็นต้น รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่อาจจะกระทบต่อกลุ่มประมง หรือธุรกิจที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ที่อาจกระทบต่อเอสเอ็มอีซึ่งเป็นซัพพลายเชน และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนสูง ส่วนกรณีความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลียังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ต้องรอความชัดเจนก่อนจึงจะสามารถประเมินผลกระทบได้

นายเบญจรงค์กล่าวว่า ธนาคารคาดว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีทั้งระบบปีนี้จะขยายตัวในระบบขยายตัว 5.7% ดีขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวได้เพียง 1.4%
โดยในไตรมาสแรกสินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบขยายตัว 2-3% ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ในกลุ่มผู้ผลิตอาหาร เครื่องดื่ม ค้าปลีก และท่องเที่ยว คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นช่วงที่มีการเร่งการเบิกจ่ายภาครัฐ รวมถึงการส่งออกและเป็นช่วงไฮซีซั่นของการบริโภค จะส่งผลดีต่อรายได้ของเอสเอ็มอี และทำให้ความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อเอสเอ็มอีในระบบ คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5-4% โดยคาดว่าจะขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในไตรมาสที่ 2 และหลังจากนั้นจะทรงตัว หรือทยอยปรับตัวลดลง หากภาวะเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างชัดเจน รวมทั้งผลจากการบริหารจัดการเอ็นพีแอลของแต่ละธนาคาร

Advertisement

นายเบญจรงค์กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไตรมาส 1/2560 อยู่ที่ 40.6 ทรงตัวจากระดับ 40.0 ในไตรมาสก่อน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 49.4 ลดลงจากระดับ 50.9 จากไตรมาสก่อน โดยผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นด้านรายได้ดีขึ้น แต่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนทั้งในปัจจุบันและ 3 เดือนข้างหน้าลดลง สะท้อนว่ายังมีความกังวลต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งต้นทุนสินค้าขาย ค่าจ้างแรงงาน ราคาน้ำมัน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image