รัฐเล็งแจกเงินคนจน 4 ล้านคน ให้มีรายได้พ้นเส้นความยากจน 3 หมื่นบาท/ปี

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเพื่อรับสวัสดิการรัฐเพิ่มเติม ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)ว่า ที่ประชุมพูดกันถึงประเด็นความช่วยเหลือ โดยได้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 3 หมื่นบาทต่อปี และ กลุ่มสองเป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี โดยกลุ่มแรกนั้น เห็นตรงกันว่า จะต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อให้มีรายได้เกินกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี

ทั้งนี้ส่วนกลุ่มมีรายได้เกินกว่านั้น แต่ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี จะต้องไปดูสวัสดิการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ โดยกระทรวงการคลัง หน่วยงานแบงก์รัฐ และกระทรวงแรงงาน ไปหารือในแนวทางความช่วยเหลือ

“ความช่วยเหลือที่จะให้แก่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีนั้น กระทรวงการคลังจะต้องไปคิดที่จะเติมเต็มรายได้ให้อย่างไร ซึ่งจะนำมาใส่ในบัตรพร้อมเพย์ให้เลย โดยขณะนี้มีงบปกติที่ใช้อยู่แล้ววงเงิน 3 หมื่นล้านบาท”นายสมคิดกล่าว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้เชิญสถาบันการเงินเฉพาะของรัฐ(แบงก์รัฐ) เช่นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)
ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) กระทรวงแรงงาน มาร่วมหารือว่าทำอย่างไรเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ยังไม่พ้นเส้นความยากจน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีจำนวนประมาณ 4 ล้านคน คนเหล่านี้ต้องดูแลเป็นพิเศษ และดูว่าทำอย่างไรให้มีรายได้มากกว่าเดิม

Advertisement

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า แนวทางการช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ เช่น หาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ รวมถึงอาจให้เงินเพิ่มเข้าไปในบัตรสวัสดิการ ในลักษณะเงินโอน แก้จน คนขยัน( Negative Income Tax :NIT) ซึ่งในต่างประเทศมีข้อกำหนดสำหรับคนที่ได้รับNITว่าต้องมีหน้าที่ เพื่อให้ได้จุดประสงค์ของประเทศ เช่น บางประเทศกำหนดให้ส่งลูกเข้าเรียนถึงชั้นไหน หลักการเพื่อต้องการพัฒนาคนให้รู้หนังสือมากขึ้น เป็นกำลังของประเทศในอนาคต สำหรับประเทศในยุโรป มีแนวคิดคืนภาษีเพิ่มรายได้เท่ากับรายได้ขั้นต่ำ แต่ของไทยยังไม่กำหนดอะไรว่าต้องทำอะไร การช่วยคนจนมีแนวคิดมีทฤษฎีหลายอย่าง คาดว่าจะสรุปให้ก่อนตุลาคม 2560 นี้

“ต้องรอขอดูตัวเลขลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยในรอบใหม่ ปิดรับลงทะเบียนวันที่ 15 พฤษภาคมว่าจะมีกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีเท่าไหร่ โดยแนวทางที่จะทำคือพยายามให้มีรายได้พ้นเส้นความยากจน และให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ โดยในการช่วยเหลือจะไม่รวมกับนักเรียน นักศึกษา ได้รับเงินจากพ่อแม่ ตรงนี้คงไม่ต้องไปช่วยเหลืออะไร ดูกลุ่มคนที่ทำงานแล้ว แต่ยังมีรายได้ต่ำว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง”นายอภิศักดิ์ กล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า นายสมคิด มอบการบ้านให้แต่ละแบงก์รัฐไปช่วยดูว่า ช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อยอย่างไร เพื่อให้การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยมีตัวเลขที่ลดลง และขอให้มีการประชุมทุกเดือน การบ้านคือ ให้แต่ละธนาคารรไปดูว่าทำอย่างไร ดูแลลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างไร เช่น ไปสร้างเศรษฐกิจชุมชน

Advertisement

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า การให้สวัสดิการผู้มีรายได้น้อยดำเนินการผ่านบัตรผู้มีรายได้น้อย เริ่มแจกบัตรในวันที่ 1 ตุลาคม แนวทางทั้งหมดสรุปและเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ช่วงกลางเดือนกันยายน ขณะนี้มีงบประมาณอยู่แล้ว 3 หมื่นล้านบาท เป็นเพียงสวัสดิการที่ให้การช่วยเหลือในปัจจุบันเช่นในเรื่องการเดินทาง และสาธารณูปโภค แต่ถ้าอาจต้องใช้งบเพิ่มเพื่อดูแลคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท โดยกำลังหารือสำนักงบประมาณในการตัดงบประมาณในส่วนอื่นช่วย ซึ่งตัวเลขงบประมาณที่จะใช้เท่าใดนั้น ยังไม่แน่นอน เพราะต้องรอดูคนที่มาลงทะเบียนด้วยว่ามีเท่าใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image